การมาของปลานิลในประเทศไทย และกำเนิดปลาทับทิม

การมาเยือนประเทศไทยของเจ้าฟ้า อากิฮิโตะ มกุฎราชกุมาร แห่งประเทศญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ.2508 พระองค์ทรงนำปลาชนิดหนึ่งเข้ามาถวายแด่พระบามสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นจำนวน 50 ตัว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงโปรดเกล้าให้เลี้ยงปลาชนิดนี้ไว้ในบ่อดิน เนื้อที่ 10 ตรม.ในบริเวณสวนจิตรลดา ต่อจากนั้น 1 ปี พระองค์ท่านทรงพระราชทานลูกปลาจำนวน 10,000 ตัว แก่กรมประมง และทรงพระราชทานชื่อปลาชนิดนี้ว่า “ปลานิล”

นับตั้งบัดนั้นเป็นต้นมาปลานิลที่ได้รับการส่งเสริมการเพาะเลี้ยง ได้มายืนอยู่แถวหน้าเป็นปลาเศรษฐกิจของคนไทย และได้มีผู้นำเข้าสู่บ่อตกปลาเป็นที่นิยม สำหรับมือปลาเกล็ดทั้งหลายในช่วงเวลาอันรวดเร็ว

ในขณะเดียวกัน การเพาะขยายพันธุ์ปลานิลในรุ่นถัดมา ก็ปรากฏสิ่งน่าประหลาดใจขึ้น เมื่อได้ลูกปลานิลที่มีสีสันผิดแผกแตกต่างไปจากพ่อแม่พันธุ์เดิม ซึ่งปกติ สีของลำตัวจะเป็นสีเขียวปนน้ำตาลดำได้เปลี่ยนไปเป็นสีขาวอมชมพู เหลือง ส้ม หรือแดงอย่างเด่นชัด อุบัติการณ์นี้เรียกปลานิลที่เกิดขึ้นจากการผาเหล่านี้ว่า “ปลานิลแดง”

ปลานิลแดง ก่อนจะมีชื่อปลาทับทิม (RED TILAPIA) เป็นปลาเกมชนิดหนึ่งซึ่งถ้าท่านผู้อ่านเป็นนักตกปลาเมื่อหลายปีก่อน คงจะเคยพบปลาตัวนี้ที่บึงสำราญ ฟิชชิ่งปาร์คในอดีตบ่ตกปลาเกล็ดหลายบ่อได้ทดลองปล่อยปลานิลแดงลงในบ่อ เพื่อให้นักตกปลาได้สัมผัสความแปลกใหม่ จากการพูดคุยกับเซียนสะปิ๋วรุ่นลายครามหลายท่านบอกว่า มีหลายบ่อนำมาปล่อยก็จริง แต่มีเพียงที่บึงสำราญฟิชชิ่งปาร์คที่มีปลานิลแดงให้เลือกตกได้มาก

เนื่องจากรสชาติที่อร่อยบวกกับความแปลกใหม่ ทำให้มีนักตกปลาและนักบริโภคปลาให้ความสนใจกับปลานิลแดง จนทำให้ปลานิลแดงถูกตกขึ้นมาเพื่อประกอบอาหารอาหารทั้งต้มยำ นึ่งมะนาว นึ่งซีอิ๋ว และทอดกระเทียมพริกไทยไม่เว้นแต่ละวัน ที่บึงสำราญฯ ปล่อยปลาชนิดนี้ไว้เป็นตันๆยังเกลี้ยงเพราะเบ็ดเปล่าก็ฮุบ พอหมดปลาชุดนั้นแล้วบ่อตกปลาต่างก็หน้ามืดเพราะสูญเงินไปมิใช่น้อยโครงการบรรจุปลานิลแดงเป็นปลาเกมจึงต้องยุติลงเพียงเท่านี้

ตามหลักฐานการพัฒนาสายพันธุ์ในต่างประเทศ เขาสันนิษฐานว่า ปลานิลแดงเกิดจากการผสมข้ามสามพันธุ์ระหว่าง ปลานิลธรรมดา (T.NILOTICA) กับ ปลาหมอเทศ (T.MOSSAMBICA) ปลาที่เกิดขึ้นใหม่นี้มีผิวหนังสีแดงอมชมพู เนื้อสีขาวละเอียดและมีรสชาติหวานเป็นที่นิยมบริโภคในประเทศญี่ปุ่น และไต้หวัน

ในประเทศไทย ปลานิลแดงได้ถูกค้นพบขึ้นเมื่อประมาณปี พ.ศ.2515 และได้รับการพัฒนาสายพันธุ์ขึ้น โดย คุณปกรณ์ อุ่นประเสริฐ นักวิชาการประมง งานสถานแสดงพันธุ์ปลาฯ ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม พ.ศ.2521 ได้ลูกปลานิลแดงเกือบ 100%

จากผลวิจัย ปลานิลแดงมีลักษณะภายนอกโดยทั่วไป คล้ายคลึงกับปลานิลธรรมดา ต่างกันเฉพาะสีของลำตัวและสีของผนังช่องท้อง ปลานิลแดงมีแนวโน้มชอบกินเนื้อมากกว่าชอบกินพืช เนื้อของปลานิลแดงมีปริมาณไขมันและส่วนของคาร์โบไฮเดรตที่ย่อยได้ (NFE) มากกว่าปลานิลธรรมดา จึงทำให้เนื้อมีรสชาติหวานและมีความนุ่มมากกว่าปลานิลธรรมดา

คลื่นคาวในตัวปลาเกิดจากอะไร
อย่างไรก็ดีปลานิลชนิดนี้ยังมีข้อเสียอยู่บ้างนเรื่องของกลิ่นคาวต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกลิ่นสาบ และกลิ่นโคลน นักตกปลาหลายท่านรวมทั้งนักบริโภคปลาอีกหลายคนคงมีความเห็นว่าเพราะเป็นปลาเลี้ยง จึงทำให้มีกลิ่นแบบนี้ เรื่องนี้ผมได้รับความกระจ่างจากคุณอดิศร์ กฤษณวงศ์ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท กรุงเทพฟาร์มเพาะเลี้ยงน้ำ กลุ่มธุรกิจเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เครือเจริญโภคภัณฑ์ว่า “กลิ่นเหม็นทั้งสามอย่างนี้มีที่มาและที่ไป อย่างเช่น กลิ่นคาว เกิดจากไขมันในตัวปลาซึ่งมีมากเกินไป โดยมากเป็นกับปลาเลี้ยงในพื้นที่จำกัด เช่น บ่อดินแคบๆ และมีความแออัด ไขมันตัวนี้จะพอกพูนอยู่ในตัวปลา เมื่อจับปลามาบริโภคปลาที่ตายแล้วจะเหม็นกลิ่นหืนของไขมันที่มีมากเกินความจำเป็น ส่วนกลิ่นสาบ เกิดจากผู้เลี้ยง เลี้ยงปลาในบ่อดินที่ทำฟาร์มเป็ด ไก่ ไว้ด้านบนบ่อ ปลาที่เลี้ยงจะกินมูลเป็ด ไก่ เป็นอาหาร ทำให้เนื้อปลามีกลิ่นสาบ และสุดท้าย กลิ่นโคลน กลิ่นนี้เกิดจากปลาที่เราเลี้ยงไปกินสาหร่ายน้ำจืดชนิดหนึ่ง ซึ่งมีอยู่ในแหล่งน้ำจืดทั่วๆ ไป สาหร่ายชนิดนี้จะสะสมกลิ่นโคลนไว้ตัวของมันเอง”

ต้นกำเนิดปลาทับทิม ซี.พี.
ในปี พ.ศ.2532 ปลานิลแดงสายพันธรรมดาได้รับการปรับปรุงสายพันธุ์ขึ้นใหม่ จากห้องทดลองของบริษัท กรุงเทพฟาร์มเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ โดยตัดเลือกปลาในตระกูลเดียวกันจาก สายพันธุ์อเมริกา อิสราเอล และสายพันธุ์ไต้หวัน นำมาผสมข้ามพันธุ์และคัดเลือกลักณะเด่นที่ต้องการ โดยมีวัตถุประสงค์ให้ปลาที่มีคุณค่าเชิงเศรษฐกิจสูง เพื่อให้เกษตรกรสามารถนำไปเพาะเลี้ยงได้ ปลาที่เกิดขึ้นใหม่นี้มีลักษณะเด่น 9 ประการด้วยกัน คือ
• อัตราการเจริญเติบโตเร็ว ใช้ระยะเวลาในการเลี้ยงเพียง 100–200 วัน สามารถจับขายได้ (น้ำหนักเฉลี่ย6 ขีด/ตัว)
• ปริมาณกล้ามเนื้อบริโภคได้ถึง 40% ต่อน้ำหนักตัว
• ลำตัวอ้วน ส่วนหัวเล็ก สันหลังหนา โครงกระดูกเล็ก ก้างน้อย
• เนื้อขาวแน่น เส้นใยกล้ามเนื้อละเอียดรสชาติดี
• ปราศจากกลิ่นที่เกิดจากไขมันในตัวปลา
• เจริญเติบโตได้ในความเค็มสูงถึง 25 ppt
• สามารถเลี้ยงในกระชังความหนาแน่นสูงได้โดยไม่มีผลเสียต่อปลา และให้ผลผลิตเฉลี่ย 40 กิโลกรัมต่อลูบาศก์เมตร
• กินอาหารเก่ง ปรับตัวเขากับสภาพแวดล้อมได้ดี และมีความต้านทานต่อโคสัตว์น้ำต่างๆ ได้ดี
• ผิวหนังมีสีแดง อมชมพู เนื้อทุกส่วนมีสีขาว และมี กรดไขมันชนิด โอเมก้า 3 (เกิดจากการเลี้ยงด้วยอาการสำเร็จ)
จากแนวพระราชดำริให้ปลานิลแดงเป็นปลาเศรษฐกิจตัวใหม่ของเกษตรกรไทย เมื่อวันที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2541 พระบามสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระราชทานชื่อใหม่ว่า “ปลาทับทิม” ดังนั้นปลานิลแดงทุกเผ่าพันธุ์ในประเทศไทยจึงได้รับการเปลี่ยนชื่อใหม่รวมทั้ง“ปลาทับทิม ซีพี”ด้วย
ปัจจุบันบ่อตกปลาในบ้านเราให้ความสำคัญกับปลาเกล็ดลดน้อยลงทุกที เจ้ายักษ์ใหญ่อย่างปลาบึก ปลากระโห้ ต่างเข้ายื้อตำแหน่งราชันแห่งบ่อตกปลากันหมด ทำให้นักตกปลาเกล็ดมีจำนวนลดลง เมื่อเทียบเป็นสัดส่วนแล้วน่าใจหายยิ่ง นักตกปลาเหล่านี้ไม่ใช่คิดเปลี่ยนใจจากปลาเกล็ด หาแต่เพียงจำนวนปลาให้ตกมีน้อยลงทุกที

Advertisements