ประเดิมวันแรก 1 มิถุนายนนี้
ขอความร่วมมือปฏิบัติตามกฎหมายโดยเคร่งครัด เพื่อเปิดโอกาสให้สัตว์น้ำจืดได้แพร่ขยายพันธุ์และมีใช้อย่างยั่งยืนสัตว์น้ำจืดของประเทศไทย เป็นแหล่งอาหารโปรตีนที่มีคุณค่าทางโภชนาการ เป็นความมั่นคงทางด้านอาหารที่หล่อเลี้ยงประชาชนในประเทศ ทั้งเพื่อการยังชีพและสร้างรายได้เลี้ยงครอบครัว จึงเรียกได้ว่าสัตว์น้ำจืดเป็นทรัพยากรของแผ่นดินที่มีความสำคัญต่อวิถีชีวิตคนไทยมายาวนาน
นายมีศักดิ์ ภักดีคง อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า กรมประมงในฐานะเป็นหน่วยงานที่มีภารกิจรับผิดชอบดูแลสัตว์น้ำและการประกอบอาชีพประมงให้เกิดการนำมาใช้ประโยชน์อย่างถูกต้องเหมาะสมและสมดุลกับกำลังการผลิตของธรรมชาติ จึงได้มีการผลิตพันธุ์สัตว์น้ำปล่อยลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ เพื่อเป็นการเพิ่มผลผลิต ควบคู่ไปกับการใช้มาตรการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำจืดในฤดูปลาน้ำจืดมีไข่ วางไข่ และเลี้ยงตัวอ่อนมาอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลายาวนานถึง 56 ปี (เริ่มปี พ.ศ. 2507)
โดยมีการกำหนด ห้ามใช้เครื่องมือทำการประมงที่มีประสิทธิภาพสูงจับสัตว์น้ำจืดในช่วงเวลาและพื้นที่น้ำจืดพร้อมกันทั่วประเทศ เพื่อเปิดโอกาสให้ทรัพยากรสัตว์น้ำได้ฟื้นตัวเกิดขึ้นใหม่ทดแทนและดำรงอยู่อย่างยั่งยืน แต่ปัจจุบันวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คน สภาพแวดล้อม สภาวะทรัพยากรและเหตุปัจจัยอื่นๆ ได้มีการเปลี่ยนแปลงไป ตัวอย่างเช่น การศึกษาข้อมูลทางวิชาการของปริมาณน้ำฝน และ ปริมาณน้ำท่า (น้ำที่ปล่อยจากเขื่อน) ที่ไหลจากเหนือลงใต้ ย้อนหลังไป 30 ปีจนถึงปัจจุบัน
พบว่าเราสามารถกำหนดช่วงเวลาฤดูน้ำแดง (ช่วงเวลาที่ปริมาณน้ำในแม่น้ำลำคลองหลายแห่งเพิ่มสูงขึ้นจนเกิดการสะสมเป็นปริมาณน้ำท่าประกอบกับปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมาชะล้างหน้าดินและพัดเอาตะกอนธาตุอาหารลงสู่แม่น้ำลำคลองจนน้ำกลายเป็นสีแดงซึ่งเป็นห้วงเวลาที่เป็นปัจจัยไปกระตุ้นให้ปลาน้ำจืดผสมพันธุ์วางไข่) นั้น ในแต่ละพื้นที่ได้อย่างเหมาะสมและสอดคล้องกับชีววิทยาการสืบพันธุ์ของปลาน้ำจืด ซึ่งส่วนใหญ่จะมีการวางไข่อยู่ในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงกันยายน ประกอบกับได้มีการจัดทำการรับฟังความคิดเห็นจากผู้แทนชาวประมงทั่วประเทศถึงความเหมาะสมต่อการกำหนดพื้นที่และห้วงเวลาฤดูสัตว์น้ำจืดมีไข่เพื่อลดผลกระทบให้น้อยที่สุด
ดังนั้นเพื่อให้การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ การรักษาสัตว์น้ำและระบบนิเวศเกิดความยั่งยืน ในมาตรการบริหารจัดการทรัพยากรฤดูสัตว์น้ำจืดมีไข่ (ฤดูน้ำแดง) ประจำปี 2563 กรมประมงจึงออกประกาศใช้กฎหมายฉบับใหม่ โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 70 แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งมีการกำหนดพื้นที่และระยะเวลาฤดูสัตว์น้ำจืดมีไข่ หรือวางไข่ เลี้ยงตัววัยอ่อน และกำหนดเครื่องมือ วิธีการทำการประมง และเงื่อนไขในการทำการประมง ให้สอดคล้องกับข้อมูลชีววิทยาของสัตว์น้ำจืด ข้อมูลปริมาณน้ำฝน ปริมาณน้ำท่า และข้อมูลด้านการประมงที่เป็นปัจจุบัน เพื่อบริหารจัดการให้เกิดความสมดุลทางธรรมชาติ รักษาทรัพยากรสัตว์น้ำและระบบนิเวศไว้อย่างยั่งยืน
ห้ามมิให้ผู้ใดทำการประมงในฤดูสัตว์น้ำจืดมีไข่ในห้วงเวลาและพื้นที่ ดังต่อไปนี้
• วันที่ 1 มิถุนายน ถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2563 : ในพื้นที่ 32 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงราย
เชียงใหม่ น่าน พะเยา แพร่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง ลำพูน อุตรดิตถ์ ตาก กำแพงเพชร พิษณุโลก สุโขทัย พิจิตร เลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม สกลนคร กาญจนบุรี ราชบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล
• วันที่ 16 มิถุนายน ถึงวันที่ 15 กันยายน 2563 : ในพื้นที่ 32 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดอุดรธานี
หนองบัวลำภู ขอนแก่น ชัยภูมิ นครราชสีมา มหาสารคาม กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด มุกดาหาร ยโสธร อำนาจเจริญ อุบลราชธานี ศรีสะเกษ สุรินทร์ บุรีรัมย์ เพชรบูรณ์ นครสวรรค์ ชัยนาท อุทัยธานี สิงห์บุรี ลพบุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี สุพรรณบุรี สระบุรี นครปฐม นนทบุรี กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ สมุทรสาคร และสมุทรสงคราม
• วันที่ 1 กรกฎาคม ถึงวันที่ 30 กันยายน 2563 : ในพื้นที่ 8 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดนครนายก
ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด
• วันที่ 16 กันยายน ถึงวันที่ 15 ธันวาคม 2563 : ในพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดพัทลุง สงขลา
ปัตตานี นราธิวาส และยะลา
โดยเครื่องมือ วิธีการทำการประมงที่อนุญาตให้สามารถทำการประมงในฤดูสัตว์น้ำจืดมีไข่ได้ มีดังนี้
1. เบ็ดทุกชนิด ยกเว้น เบ็ดราว เบ็ดพวง หรือการใช้เครื่องมืออื่นใดที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน
2. ตะแกรง สวิง ช้อน ยอ หรือชนาง ซึ่งมีขนาดปากกว้างไม่เกิน 2 เมตร และไม่ทำการประมงด้วยวิธีประดาตั้งแต่สามเครื่องมือขึ้นไป
3. สุ่ม ฉมวก และส้อม
4. ไซ ตุ้ม อีจู้ ลัน
5. แหที่มีความลึกไม่เกิน 6 ศอก (3 เมตร)
6. การทำการประมงเพื่อการศึกษา วิจัย หรือ ทดลองทางวิชาการ หรือโครงการที่ดำเนินการของทางราชการ โดยได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากอธิบดีกรมประมง
ทั้งนี้ หากผู้ใดฝ่าฝืนตามประกาศฯ มาตรา 70 แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มีโทษปรับตั้งแต่ห้าพันถึงห้าหมื่นบาท หรือปรับจำนวนห้าเท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่ได้จากการทำประมง
ที่ผ่านมากรมประมงต้องขอขอบคุณพี่น้องชาวประมงทุกคนที่ให้ความร่วมมือกับทางภาครัฐในการปฏิบัติตามกฎหมาย จนกระทั่งทรัพยากรสัตว์น้ำค่อยฟื้นคืนความอุดมสมบูรณ์ดังเช่นแต่ก่อน และในปีนี้ หวังเป็นอย่างยิ่งในความร่วมมือจากพี่น้องที่มีอาชีพจับสัตว์น้ำและประชาชนทั่วไป
โปรดปฏิบัติตามกฎหมายหรือคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ และร่วมกันตระหนักถึงความสำคัญของการอนุรักษ์ ร่วมกันรณรงค์สร้างจิตสำนึกการทำประมงอย่างถูกวิธีไม่ทำลายสัตว์น้ำด้วยการใช้เครื่องมือทำลายล้าง ไม่จับปลาในฤดูมีไข่ และช่วยกันสอดส่องดูแลและแจ้งเบาะแสการทำการประมงที่ผิดกฎหมาย เพื่อดูแลรักษาทรัพยากรสัตว์น้ำจืดของไทยให้สามารถแพร่ขยายพันธุ์คืนความอุดมสมบูรณ์ให้กับแหล่งน้ำธรรมชาติเพื่อให้มีใช้อย่างยั่งยืน
…อธิบดีกรมประมง กล่าว
อ่านเรื่อง > จับคนใช้ไอ้โง่ โดนทั้งยึดทั้งปรับ