Advertisement
Home บทความพิเศษ ตกปลากราย ด้วยเหยื่อเป็น จะทำยังไง

ตกปลากราย ด้วยเหยื่อเป็น จะทำยังไง

ปลากราย ถือเป็นหนึ่งในปลาที่นักตกปลาต้องการตกให้ได้ มันเป็นปลาที่สามารถตกได้หลายวิธี ไม่ว่าจะเหยื่อปลอมหรือเหยื่อจริง มันจึงเป็นปลาที่ตกได้ไม่ยาก แต่สิ่งสำคัญในการตกปลากราย คือรู้จักมัน รู้ว่ามันจะอยู่ไหน และหาที่อยู่ของมันให้เจอ เดี๋ยวมาดูกันว่าตกยังไง

ปลากราย ปลาหางแพน หรือ ปลาตองกราย (Spotted Featherback) เป็นปลาน้ำจืดอีกชนิดหนึ่งที่คนไทยนิยมบริโภค โดยเฉพาะใช้เป็นวัตถุดิบผลิตทอดมันหรือลูกชิ้น ราคาขายในตลาดจึงสูง ส่วนบริเวณเนื้อเชิงครีบก้น เรียกว่าเชิงปลากราย เป็นส่วนที่นิยมมาปรุงอาหารโดยนำมาทอดกระเทียมหรือชุบแป้งทอด แม้ว่าเนื้อจะมีก้างมาก แต่ก็เป็นที่นิยมเพราะมีรสชาติอร่อย

ตกปลากราย ไม่ยากอย่างที่คิด

รู้จักปลากรายซะก่อน สิ่งสำคัญที่สุดในการตกปลากรายคือ หาให้เจอว่ามันอยู่ไหน และเนื่องจากปลากรายเป็นปลาถิ่น มันจะไม่ค่อยย้ายไปไหน มันมักจะอยู่ที่เดิมๆ แถมยังชอบขึ้นน้ำให้เห็นอย่างชัดเจนอีกต่างหาก มาดูวิธีหาปลากรายกันก่อน

เสียงขึ้นน้ำของปลากราย!

ถ้าให้พูดถึงเสียงการขึ้นน้ำของปลากราย คงต้องบอกว่ามันต่างจากปลาอื่นอยู่เหมือนกัน เสียงจะประมาณ แจะๆ แผะๆ อาจเป็นเพราะตัวมันแบน บางทีเราอาจได้ยินเสียงมาแต่ไกล จะได้ไปตามหาที่อยู่ได้ถูกทิศ และปลากรายมักจะอาศัยอยู่ คือมุมอับของบ่อ บริเวณตอไม้ หรือต้นไม้ที่ล้มอยู่ใต้น้ำ ถ้าเป็นเขื่อนก็เป็นพวกต้นไม้ยืนต้นตายที่มีเต็มไปหมด หากันเวียนหัว อาจต้องให้คนพื้นที่ช่วย

ตกปลากราย ตัวใหญ่ด้วยเหยื่อปลากระดี่ตาย

อาหารของปลากราย

ปลากรายเป็นปลาที่ดุมาก และยังหวงถิ่นอีกด้วย มันจะดุเป็นพิเศษเมื่อเข้าฤดูวางไข่ ซึ่งตรงกับช่วง มีนาคม – ตุลาคม ของทุกปี ดังนั้นเหยื่อที่ใช้ตกมันจึงควรเป็น เหยื่อที่มีชีวิต เช่นลูกปลา กุ้ง เหยื่อทั้ง 2 ชนิดนี้ เหมาะใช้ตกปลากรายมาก แต่หากไม่มีจริงๆ ใช้พวกปลาตาย ตับ ก็พอไหว

“สำหรับเหยื่อที่เป็นลูกปลา ก็เป็นพวก ปลาซิว ปลากระดี่ ปลาสร้อย ปลาแปบ ปลาแขยง ปลาหมอไทย หาอะไรได้ก็ใช้ตัวนั้น ขนาดประมาณ 3 – 4 นิ้ว อึดหน่อย โดนเกี่ยวโคนหางแล้วไม่ตาย ว่ายเก่งๆ เป็นอันใช่ได้”

การเตรียมอุปกรณ์

บางคนใช้ทุ่นเพื่อตกปลากราย แต่ในกรณีที่น้ำไม่ลึกมากใช้ตกแบบหน้าดินดูจะได้ผลกว่า เพราะปลากรายเป็นปลาที่ระแวงระวังภัยสูงมาก ดังนั้นถ้าไม่จำเป็นไม่ใช่ทุ่นจะดีกว่า

สายที่เลือกใช้ไม่ควรเกิน 15 lb แต่บ้าพลังใหญ่กว่าก็ได้ แต่อาจทำให้เหยื่อแข็ง ส่งผลให้ปลาระแวงมาก แถมปลาเหยื่อก็ไม่ทนด้วย ตัวเบ็ดเลือกประมาณเบอร์ 9 – 12 เลือกแข็งๆ หน่อย ตะกั่วหนักมากน้อยแค่ไหน ต้องดูแหล่งน้ำว่าลึก หรือไหลแรงยังไงหรือเปล่า

การผูกสายหน้า แนะนำให้ผูกห่างจากตะกั่วประมาณ 1 – 2 ฟุต ก็พอ เวลาเกี่ยวลูกปลา หรือกุ้ง ให้เกี่ยวจากโคนหาง พยายามอย่าเกี่ยวไปโดนกระดูกสันหลังของปลานะ เพราะมันจะตายง่าย พอตายแล้วปลากรายไม่ค่อยสนใจเท่าไร เมื่อจัดการเตรียมปลายสายเรียบร้อย ก็โยนไปใกล้ๆ จุดที่เห็นปลากรายขึ้นน้ำ แล้วก็รอได้เลย

การกินเหยื่อของปลากราย

ปลากรายก่อนจะกินเหยื่อหรือเบ็ด มันจะชอบว่ายโฉบเหยื่อก่อนสองสามครั้ง สังเกตได้ว่าสายจะกระตุกๆ แต่ยังไม่ใช่อาการที่ปลากินเหยื่อ เมื่อเห็นแบบนี้ ให้เตรียมตัวได้เลย แต่อย่าเพิ่งไปวัดล่ะ ให้รอสักพัก มีโอกาสสูงที่ไม่นานปลากรายจะกลับมาภายในไม่กี่นาที

เมื่อมันกลับมา มันจะงับเหยื่อลงท้องทันที รอจนสายวิ่งสักนิด 3 – 4 เมตร ถ้าไม่หยุดรอสายตึงวัดได้เลย ถ้ามันหยุดก็รอมันลากอีกสักเมตรค่อยวัด รับประกันกระโดดแน่นอน เพราะเหยื่อลงไปถึงกระเพาะไปแล้ว และในการสู้ปลากราย อย่าให้สายหย่อย เพราะถ้าเหยื่อไม่ลงกระเพาะ ติดอยู่แค่ที่ปาก โอกาสหลุดจะมีสูง เพราะปากของปลากรายเป็นกระดูกที่แข็งมาก แถมมันชอบกระโดดอีกด้วย ยังไงซะต้องให้สายตึงตลอด แค่นี้ก็ได้ตัวล่ะ

เอาล่ะขอจบเพียงเท่านี้ก่อน สำหรับเทคนิคตกปลากราย ก็หวังว่าจะเป็นประโยชน์กับน้าๆ แต่ต้องบอกไว้ก่อนว่า แต่ละหมาย แต่ละท้องที่วิธีตกอาจไม่เหมือนกัน แต่ก็ยังสามารถนำไปปรับใช้ได้ ขอให้โชคดี ตกปลาให้สนุกครับ

ตกปลาช่อน ด้วยเท็กซัสริก ฉบับปั้นมือใหม่ให้โปร บทที่ 1

Exit mobile version