Advertisement
Home บทความพิเศษ 10 อันดับปลาน้ำจืด ตัวใหญ่ที่สุดที่พบในประเทศไทย ไม่นับปลาไฮบริดปลานอก

10 อันดับปลาน้ำจืด ตัวใหญ่ที่สุดที่พบในประเทศไทย ไม่นับปลาไฮบริดปลานอก

ปลาน้ำจืดตัวใหญ่ที่สุดในโลก 10 อันดับแรก จะมีปลาที่พบได้ในประเทศไทยถึง 3 ชนิด แต่หากถามว่า ปลาน้ำจืดที่พบได้ในประเทศไทยและตัวใหญ่ที่สุด 10 อันดับแรกคืออะไร? เอาเป็นว่าเรามาดูกันทีละตัวเลยดีกว่า

อันดับ 10 – ปลาสวาย – Pangasianodon hypophthalmus

ปลาสวาย (Striped catfish) ที่กำลังพูดถึงนี้จะไม่รวมปลาสวายลูกผสมที่เรียกว่า “บิ๊กหวาย” เนื่องจากบิ๊กหวายไม่ได้เกิดขึ้นในธรรมชาติ และแม้ปลาสวายจะดูเหมือนว่าพวกมันจะมีอยู่มากมายในแม่น้ำ แต่จริงๆ แล้วพวกมัน “ใกล้สูญพันธุ์”

ปลาสวาย
ปลาสวาย (Striped catfish)

ปลาสวายเป็นปลาน้ำจืดที่มีลักษณะคล้ายกับปลาบึก แต่จะมีขนาดเล็กกว่ามากและมีปากที่แคบกว่า มันเป็นปลากินพืชแต่บางทีก็กินเนื้อได้เช่นกัน ในปลาขนาดใหญ่จะมีสีเทาหรือคล้ำอมน้ำตาล ด้านข้างลำตัวมีสีจาง มีขนาดประมาณ 50 เซนติเมตร ใหญ่สุดอยู่ที่ 1.5 เมตร เป็นปลาที่พบได้ทั่วไปในแม่น้ำลำคลองทั่วประเทศไทย

อันดับ 9 – ปลายี่สกไทย – Probarbus jullieni

ปลายี่สกไทยหรือปลายี่สก (Seven stripped carp) เป็นหนึ่งในปลาที่เกือบจะสูญพันธุ์ไปจากธรรมชาติ โดยในอดีต ปลายี่สกมีมากที่สุดในแม่น้ำโขง ต่อมาคือแม่น้ำน่าน ส่วนที่แม่น้ำแคว จังหวัดกาญจนบุรี แม่น้ำแม่กลอง จังหวัดราชบุรี แทบจะไม่มีปลายี่สกเหลืออยู่เลย …แต่โชคยังดีที่กรมประมงสามารถผสมเทียมได้สำเร็จ ด้วยเหตุนี้พวกมันจึงมีเหลืออยู่ในประเทศไทย

ปลายี่สก (Seven stripped carp)

โดยปลายี่สก ซึ่งเป็นปลาในวงศ์ปลาตะเพียน จะมีลักษณะเด่นตรงที่มีแถบสีดำ 7 แถบ พาดไปตามความยาวของลำตัว แถบสีดำเหล่านี้จะพาดอยู่ระหว่างรอยต่อของเกล็ด มีตาสีแดง ครีบทุกครีบสีชมพู เป็นปลาที่ยาวได้ถึง 1 เมตร และหนักได้ประมาณ 40 กิโลกรัม

อันดับ 8 – ปลากดคัง – Hemibagrus wyckioides

ปลากดคัง (Asian Redtail Catfish) ซึ่งเป็นปลาที่มีหางสีแดง และมักถูกเข้าใจผิดกับชื่อปลาเรดเทล แต่ความจริงทั้งสองชนิดนี้ต่างกันมาก โดยปากดคังถือเป็นปลาดั่งเดิมของไทย ในขณะที่ปลาเรดเทล เป็นปลาที่มีถิ่นกำเนิดในลุ่มแม่น้ำอเมซอน แน่นอนว่าปลากดคังของเราตัวเล็กกว่า

ปลากดคัง (Asian Redtail Catfish)

ปลากดคังถือเป็นน้ำจืดราคาค่อนข้างแพง นิยมนำมาบริโภค พวกมันมีลักษณะทั่วไปเหมือนปลากด แต่จะมีหาง และครีบส่วนอื่นๆ เป็นสีแดงหรือส้มที่โดดเด่น มีลำตัวสีเทาอ่อนอมฟ้าหรือเขียวมะกอก ท้องสีจาง โตเต็มที่ได้ประมาณ 1.5 เมตรและหนักเกือบ 100 กิโลกรัม แต่มีบันทึกว่าเคยพบตัวใหญ่สุดที่ยาวถึง 2.3 เมตร เป็นปลาที่พบในแม่น้ำของไทยทุกภาคและในแหล่งน้ำนิ่งขนาดใหญ่

อันดับ 7 – ปลาเค้าขาว – Wallago attu

ปลาเค้าขาว (Great White Sheatfish) จัดเป็นปลาเนื้ออ่อนขนาดใหญ่ที่พบได้ในประเทศไทย เป็นปลาที่มีส่วนหัวและจงอยปากยื่นแหลม ปากกว้างมาก มีฟันที่แหลมเล็ก ลำตัวยาว มีสีเงินวาวอมเขียวอ่อนที่ด้านหลัง ในปลาบางตัวมีแถบยาวสีคล้ำที่ด้านข้างลำตัว ด้านท้องสีจาง มีขนาดประมาณ 80 เซนติเมตร แต่เคยพบใหญ่สุดที่ 2 เมตร

ปลาเค้าขาว (Great White Sheatfish)

เราสามารถพบปลาเค้าขาว ได้ทั่วไปตามแม่น้ำสายใหญ่ในประเทศไทย แต่ก็พบได้ไม่ง่ายเช่นกัน จัดเป็นปลาที่นิยมนำมาบริโภคและมีราคาค่อนข้างสูง

อันดับ 6 – ปลาแค้ยักษ์ – Bagarius yarrelli

ปลาแค้ยักษ์ (Goonch) เป็นปลาที่พบได้ยากในประเทศไทย แต่ก็มีตัวให้เห็นอยู่บ้าง โดยปลาแค้ยักษ์มีรูปร่างคล้ายปลาแค้วัว (B. bagarius) ซึ่งพบได้บ่อยกว่าในประเทศไทย สิ่งที่ต่างคือครีบท้องของปลาแค้ยักษ์ จะอยู่เยื้องด้านท้ายของครีบหลัง เป็นปลาที่ยาวได้ประมาณ 70 เซนติเมตร แต่เคยพบใหญ่สุดอยู่ที่ 2 เมตร เราสามารถพบพวกมันได้ใน แม่น้ำสาละวินจนถึงแม่น้ำโขง

ปลาแค้ยักษ์ (Goonch)

อันดับ 5 – เกรตทาปาห์ – Wallagonia leerii

เกรตทาปาห์ (Great Tapah) ชื่อนี้อาจไม่คุ้นหู แต่มันเป็นปลาเค้าดำที่พบได้ในบริเวณภาคใต้ของประเทศไทย แน่นอนว่าพวกมันมีอยู่มากในประเทศมาเลเซีย โดยเกรตทาปาห์ จะมีขนาดใหญ่กว่าปลาเค้าดำ (Wallagonia micropogon) ที่พบในภาคกลางของไทยมาก

เกรตทาปาห์ (Great Tapah)

เป็นปลาที่ยาว 1.5 เมตรได้อย่างง่ายดาย และตัวใหญ่ที่สุดที่เคยพบคือยาวกว่า 2 เมตรและหนักเกิน 100 กิโลกรัม …ในตอนนี้จัดเป็นปลาใกล้สูญพันธุ์

อันดับ 4 – ปลาเทพา – Pangasius sanitwongsei

แม้ปลาเทพา (Chao Phraya Catfish) จะมีหน้าตาคล้ายกับสวาย แต่ตัวใหญ่กว่าและยังเป็นปลานักล่าที่ดุร้าย มันเป็นปลาที่มีส่วนหัวและปากกว้างกว่าปลาชนิดอื่นในวงศ์เดียวกัน ซึ่งรวมถึงปลาบึกด้วย เป็นปลาที่มีฟันแหลมคม รูปร่างป้อม ที่ปลายก้านครีบอันแรกของครีบหลัง ครีบอกและครีบท้องยื่นเป็นเส้นยาว

ปลาเทพา (Chao Phraya Catfish)

ปลาเทพามีฉายาว่า “เจ้าแห่งแม่น้ำเจ้าพระยา” เนื่องจากเป็นปลาที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในแม่น้ำเจ้าพระยา เมื่อโตเต็มวัยมันจะมีความยาวประมาณ 1.25 เมตร แต่ตัวใหญ่ที่สุดที่เคยพบคือ 3 เมตร และหนักเกิน 100 กิโลกรัม เป็นปลาที่อยู่ในสถานะเสี่ยงขั้นวิกฤติต่อการสูญพันธุ์ อย่างไรก็ตามยังสามารถเพาะขยายพันธุ์ปลาชนิดนี้ได้ด้วยวิธีผสมเทียม

อันดับ 3 – ปลากระโห้ – Catlocarpio siamensis

ปลากระโห้ (Siamese giant carp) เป็นปลาน้ำจืดที่มีขนาดของเกล็ดใหญ่ที่สุดในโลก และเป็นปลาในวงศ์ปลาตะเพียนที่มีขนาดใหญ่ที่สุดอีกด้วย โดยปกติปลาชนิดนี้มีขนาดประมาณ 1.5 เมตร แต่เคยพบใหญ่สุดได้ถึง 3 เมตร หนัก 150 กิโลกรัม โดยปลากระโห้ เคยเป็นปลาที่พบได้ทั่วไปในแม่น้ำของประเทศไทย และพบได้มากในแม่น้ำเจ้าพระยา มันจัดเป็นปลาประจำกรุงเทพมหานครเลยด้วยซ้ำ

ปลากระโห้ (Siamese giant carp)

อันดับ 2 – ปลาบึก – Pangasianodon gigas

ปลาบึก (Mekong Giant Catfish) เป็นปลาที่คนไทยรู้จักกันดี มันคือหนึ่งในปลาน้ำจืดขนาดใหญ่ที่สุดในโลก เป็นปลาที่เกือบจะสูญพันธุ์ไปจากธรรมชาติ ความจริงปลาบึกแท้แทบจะไม่มีเหลือในธรรมชาติ และตามรายงานของเนชั่นแนลจีโอกราฟิก ได้ระบุว่าประเทศไทยประสบความสำเร็จในการเพาะพันธุ์ปลาบึก แต่ก็ล้มเหลวอย่างมากในการนำมันกลับคืนสู่ธรรมชาติ

ปลาบึก (Mekong Giant Catfish)

โดยปลาบึกแท้เมื่อโตเต็มขึ้น มันจะไม่มีฟันเหลืออยู่เลย ในธรรมชาติพวกมันจะกินตะไคร่น้ำเป็นอาหาร และมีรายงานว่าปลาบึกเป็นปลาที่เติบโตได้เร็วที่สุดในปลาน้ำจืดชนิดบนโลก ซึ่งสามารถหนักได้ถึง 200 กิโลกรัมได้ภายในเวลา 6 ปี และตัวใหญ่ที่สุดที่เคยจับได้คือ 2.7 เมตร หนัก 293 กิโลกรัม

อันดับ 1 – ปลากระเบนราหูน้ำจืด – Himantura polylepis

ปลากระเบนราหูน้ำจืด (Giant Freshwater Stingray) เป็นปลากระเบนน้ำจืดตัวใหญ่ที่สุดในโลก และยังจัดเป็นปลากระเบนที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากปลากระเบนแมนตาที่พบได้ในทะเล โดยปลากระเบนราหูน้ำจืด หนักได้ถึง 600 กิโลกรัม มีความกว้างถึง 2.5 – 3 เมตร หากรวมความยาวตั้งแต่ปลายส่วนหัวจรดปลายหาง ที่บันทึกไว้ได้ใหญ่ที่สุด คือ 5 เมตร ถือเป็นหนึ่งในปลาน้ำจืดที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับแรกของโลก

ปลากระเบนราหูน้ำจืด (Giant Freshwater Stingray)

ในอดีตเราสามารถพบปลาชนิดนี้ได้ ในแม่น้ำสายหลักหลายสายของประเทศไทย แต่ในปัจจุบันได้สูญพันธุ์ไปหมดแล้ว คงเหลือแต่ในแม่น้ำแม่กลอง บริเวณ 20 กิโลเมตรก่อนไหลลงสู่อ่าวไทย ช่วงอำเภออัมพวาจังหวัดสมุทรสงคราม จัดเป็นปลาที่เสี่ยงขั้นวิกฤติต่อการสูญพันธุ์

อ่านเรื่องอื่น

Exit mobile version