Advertisement
Home บทความพิเศษ ประวัติศาสตร์ ออสเตรเลียเปิดสงครามกับ ‘นกอีมู’ แต่จบลงด้วยชัยชนะของนก

ประวัติศาสตร์ ออสเตรเลียเปิดสงครามกับ ‘นกอีมู’ แต่จบลงด้วยชัยชนะของนก

เรื่องนี้อาจจะดูแปลกๆ เพราะมันจะเป็นไปได้เหรอ? ที่มนุษย์จะแพ้นก แต่เรื่องนี้เป็นเรื่องจริง มันเป็นหนึ่งในประวัติศาสตร์ "มืด" ของออสเตรเลีย ที่ครั้งหนึ่งเคยประกาศสงครามกับนกอีมู จนถึงขนาดส่งทหารติดอาวุธเข้าไปลุยเลยทีเดียว แต่เรื่องนี้ดันจบไม่สวย เพราะทางฝ่ายรัฐบาลแพ้นก เรื่องราวเป็นยังไงมาดูกัน

ก่อนจะไปอ่านเรื่องประวัติศาสตร์มืด ขอพูดถึงนกอีมูในตอนนี้ก่อน …นกอีมู (Common Emu) เป็นนกประจำถิ่นของออสเตรเลีย มันคล้ายกับนกกระจอกเทศ แต่มีขนาดเล็กกว่า โดยนกชนิดนี้ครอบคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของออสเตรเลีย หรือก็คือในอดีตมีพวกมันเกือบทุกที่แม้แต่ในทะเลทรายของออสเตรเลีย ที่ไม่มีนกชนิดนี้อยู่ก็คงมีแค่ในรัฐแทสเมเนีย ที่เป็นเกาะขนาดใหญ่แยกออกมาจากแผ่นดินใหญ่

นกอีมูเป็นนกขนนุ่มสีน้ำตาล ขายาว มันสูงได้ถึง 190 เซนติเมตร และยังวิ่งได้เร็วถึง 50 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ชอบกินพืช กินแมลง มันจะไม่ตายง่ายๆ แม้จะอดอาหารหรืออดน้ำนานหลายสัปดาห์

นกอีมูได้รับการจัดอันดับให้เป็นสายพันธุ์ที่มีความกังวลน้อยที่สุด โดยสหภาพนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ หรือก็คือแม้แต่ในตอนนี้นกชนิดนี้ก็มีอยู่เต็มไปหมด

เรื่องราวของสงครามนกอีมู

เรื่องราวเริ่มหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ทหารของออสเตรเลีย รวมทั้งทหารของอังกฤษ อพยพเข้าไปตั้งถิ่นฐานทางภาคตะวันตกของออสเตรเลีย จากนั้นพวกเขาก็เริ่มทำอาชีพเกษตรกรรม …แต่พื้นที่แถวนั้นค่อนข้างกันดาร ประกอบกับเกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ

ในปี พ.ศ. 2472 เกษตรกรกลุ่มนี้ ได้รับการส่งเสริมให้เพิ่มผลผลิตข้าวสาลีส่งให้กับรัฐบาล ซึ่งรัฐบาลเองก็สนับสนุนทุกอย่าง จนกระทั่งปี พ.ศ. 2475 เกษตรกรที่กำลังจะเก็บเกี่ยวข้าวสาลีส่งมอบรัฐบาล แต่แล้วก็ต้องเจอเข้ากับฝูงนกยักษ์ขนาดมหึมา มันเป็นฝูงนกอีมูมากกว่า 2 หมื่นตัว

ฝูงนกยักษ์ที่ผิวโหย แห่กันมาหาแหล่งน้ำที่เกษตรกรเก็บไว้เพื่อใช้งาน ด้วยพลังของฝูงนกอีมูทำให้รั้วทั้งหมดที่สร้างเอาไว้พังลง สร้างความเสียหายกับพืชไร่ พวกมันกัดกินข้าวสาลีเสียหายอย่างหนัก เกษตรกรในพื้นที่โกรธจัด จึงส่งตัวแทนที่เป็นอดีตทหารผ่านศึก ไปพบกับ เซอร์ จอร์จ เพียร์ซ (Sir George Pearce) ผู้ซึ่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมออสเตรเลีย

อดีตทหารผ่านศึก ที่เพิ่งตั้งตัวได้หมาดๆ แต่แล้วก็โดนฝูงนกอีมูบุกทำลายพืชไร้ พวกเขาจึงมีแค่ความคิดแบบทหารเก่า คือต้องยิงให้หมดด้วยปืนกล ซึ่งรัฐมนตรีเพียร์ซเห็นชอบ โดยมีเงื่อนไขว่า

  1. ผู้ใช้อาวุธต้องเป็นทหารเท่านั้น
  2. รัฐบาลของรัฐออสเตรเลียตะวันตกจะสนับสนุนการขนส่งทหาร
  3. เกษตรกรจะจัดหาอาหาร จัดหาที่พักให้ทหารที่ปฏิบัติหน้าที่
  4. เกษตรกรจะออกค่าใช้จ่าย ค่ากระสุนที่จะใช้

และเพราะการส่งทหารไปเพื่อปราบนก เลยทำให้รัฐมนตรีเพียร์ซ ได้รับฉายาว่า “รัฐมนตรีปราบนกอีมู” และพวกเขาก็คิดว่าการปราบนกตัวใหญ่พวกนี้ไม่ได้ยากอะไรเลย แต่แล้วมันก็ไม่ได้เป็นอย่างที่หวัง

ความพ่ายแพ้ครั้งที่ 1

พันตรี จี ดับเบิลยู เมอร์ดิทธ์ (Major G.W. Meredith) จากหน่วยทหารปืนใหญ่ที่ 7 กองทัพบกออสเตรเลีย ผู้ซึ่งได้รับหน้าที่เป็นผู้บัญชาการในภาระกิจครั้งนี้ อาวุธหนักที่ถูกนำไปสังหารนกอีมูคือ ปืนกลเลวิส (Lewis) 2 กระบอก พร้อมกระสุน 1 หมื่นนัด กับทหารจำนวนหนึ่ง กับปืนยาวทั่วไปที่ใช้ในสมัยนั้น

แต่แล้วสภาพอากาศไม่เป็นใจ เพราะฝนตกลงมาอย่างหนักในพื้นที่ ฝูงนกอีมูจึงกระจายตัวกันออกไปทั่ว นกยักษ์อยู่ไม่เป็นกลุ่มก้อน จึงต้องเปลี่ยนช่วงเวลาปฏิบัติการ จากเดิมเดือนตุลาคม ไปเป็นเดือนพฤศจิกายน โดยทหารต้องประสานงานกับเกษตรกรอย่างใกล้ชิด เพื่อจะได้ทราบว่านกอีมูไปทำความเสียหายในบริเวณใดบ้าง

ตามรายงาน สงครามปราบนกอีมูวันแรกเริ่มต้นในวันที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ.2475 ทหารพร้อมปืนกล มองเห็นฝูงนกยักษ์ประมาณ 50 ตัว แต่พวกมันอยู่ไกลเกินไป และยังแยกเป็นฝูงย่อยๆ ทหารปืนกลสาดกระสุนแบบออโตออกไป 1 ชุด แต่ไม่โดนนกสักตัว และสุดท้ายสงครามวันแรก พวกเขาก็จัดการนกอีมูไปได้ประมาณ 12 ตัว

วันที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ.2475 ทุกอย่างเป็นไปตามแผน ฝูงนกอีมูประมาณ 1 พันตัว รวมตัวกันเดินเข้ามาใน “พื้นที่สังหาร” ทหารยิงปืนกล ทาบศูนย์หน้าศูนย์หลังตรงกันเป๊ะ กับฝูงนกยักษ์จอมเขมือบ บรรจงลั่นไกสาดกระสุนออกไป 1 ชุด นกอีมูตัวสูงเท่าคนล้มระเนระนาด 12 ตัว ขาดใจทันที่ แต่แล้วปืนก็ยิงต่อไม่ได้ ปืนขัดลำกล้อง และเรื่องก็จบลงทั้งอย่างงั้น

ทหารที่ได้รับมอบภารกิจมาปราบนกอีมูต่างหัวเสีย จึงปรับแผนอีกครั้งโดยขยับที่ตั้งปืนลงไปทางทิศใต้ เพราะมีข้อมูลว่าฝูงนกแถวนั้น “น่าจะเชื่อง” ยิงได้ง่ายกว่าแน่นอน แต่เมื่อไปตั้งปืนจริงๆ กลับไม่เป็นไปตามแผน ยิงไม่ได้เลยสักตัว

ผู้พันเมอร์ดิทธ์ จึงคิดแผนใหม่ เปลี่ยนมาเป็นไล่ล่านกอีมูแทน จึงนำปืนกลขึ้นตั้งบนรถบรรทุกของชาวบ้าน แล้วขับตระเวนไปหลายพื้นที่เพื่อหาแหล่งชุมนุมของนก แต่รถวิ่งไปได้เพียงพื้นที่จำกัดเท่านั้น เพราะพื้นที่สูงต่ำทุลักทุเลจนเล็งปืนไม่ได้ เป็นอันว่าการไล่ล่าโดยเอาปืนกลตั้งบนรถบรรทุกแบบในหนังก็ไม่ประสบผลสำเร็จ

ต่อมา ทหารยอมรับว่านกพวกนี้ฉลาด มีผู้นำที่เสียสละคอยหาทางหนีทีไล่ให้สมาชิกในกลุ่ม จนวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ.2475 หลังจากเปิดสงครามมาได้ 6 วัน ทหารตรวจสอบกระสุนที่เหลืออยู่ พวกเขาพบว่าใช้ไปเพียง 2,500 นัด ส่วนจำนวนนกที่สังหารก็ได้แค่ประมาณ 50 ตัว ส่วนทหารปลอดภัยทุกนาย

สื่อมวลชนที่ติดตามข่าวการส่งทหารไปล่านกอีมูมาตั้งแต่ต้น นำเสนอข้อมูลในเมืองหลวงอย่างเข้มข้น มีสีสันปนความสนุก บทสรุปที่ได้คือ นกอีมูไม่ยอมอยู่รวมกันเป็นฝูงใหญ่ พวกมันพากันสลายตัวออกเป็นกลุ่มย่อยๆ ซึ่งยากเกินไปที่จะไล่ยิง

ต่อมา ส.ส.ในสภาผู้แทนราษฎร ที่ทราบข้อมูลด้านลบจากสื่อมวลชน ก็นำเรื่องไปอภิปรายในสภา เป็นผลให้รัฐมนตรีกลาโหม สั่งยุติปฏิบัติการสังหารนกอีมูและให้ถอนกำลังกลับในเดือน พฤศจิกายน พ.ศ.2475 …แน่นอนว่า นี่เป็นการถอนกำลังไปตั้งหลัก

สงครามนกอีมูครั้งที่ 2

หลังจากทหารถอนกำลังกลับไป ฝูงนกอีมูกลับมาอาละวาดทำความเสียหายต่อพืชไร่ อากาศที่ร้อนจัดและสภาวะแห้งแล้ง ก็ทำให้นกอีมูนับพัน แห่กันมาใช้แหล่งน้ำของเกษตรกรแบบมืดฟ้ามัวดิน …พวกมันรวมกันเป็นฝูงใหญ่

ไม่นานนัก นายเจมส์ มิทเชลล์ (James Mitchell) ผู้ว่าการที่ดูแลรัฐออสเตรเลียตะวันตก ออกมาขอให้ส่งทหารเข้าไปปราบนกอีกครั้ง ซึ่งรอบนี้ทำได้ดีขึ้น แต่ก็ไม่มีรายละเอียดบอกวิธีจัดการนกอีมู บอกเพียงว่า การไล่ล่าวายร้ายนกอีมูรอบที่ 2 เพียง 2 วันแรก ก็ยิงได้ 40 ตัว ทหารไม่ลดละความพยายาม วางจุดซุ่ม ดักยิงนกได้เฉลี่ยสัปดาห์ละ 100 ตัว

และสุดท้ายสงครามนกอีมูก็ถูกระงับไปในเดือนธันวาคม พ.ศ.2475 พันตรีเมอร์ดิทธ์รายงานกลับมาที่สภาว่า ใช้กระสุนไป 9,860 นัด สังหารนกได้ 986 ตัว เฉลี่ยแล้วใช้กระสุน 10 นัดต่อนก 1 ตัว มีนกบาดเจ็บ 2,500 ตัวและเสียชีวิตในเวลาต่อมา

สุดท้ายเขาให้สัมภาษณ์โดยยอมรับความพ่ายแพ้ว่า “ถ้าเรามีหน่วยทหารที่ทนทานต่อกระสุนเท่านกพวกนี้ เราคงออกรบกับกองทัพอื่นๆ ในโลกนี้ได้สบาย นกพวกนี้ประจันหน้าปืนกลได้อย่างไม่สะทกสะท้านราวกับรถถังเชียวล่ะ”

แม้ภารกิจจะล้มเหลว แต่การลดประชากรนกอีมูที่ทำลายพืชผลของเกษตรกร ก็ถือว่าได้ผลระดับหนึ่ง ตามข้อมูลระบุว่า เกษตรกรในรัฐตะวันตกของออสเตรเลียได้ร้องขอทหารไปปราบนกอีมูอีกในปี พ.ศ.2477, พ.ศ.2486 และ พ.ศ.2491

“ออสเตรเลียยกย่องนกอีมูและให้เกียรตินกอีมู เป็นสัตว์ที่ปรากฏบนสัญลักษณ์ของประเทศออสเตรเลียคู่กับจิงโจ้ (ตราแผ่นดินของออสเตรเลีย)”

แน่นอนว่ารัฐบาลปฏิเสธ แต่ก็ยินยอมให้เกษตรกรใช้ปืนยาวยิงนกอีมูที่บุกรุกเข้าในสวนของตนได้เอง และให้นำมารับเงินแทน โดยเริ่มขึ้นในปี พ.ศ. 2487 และมีอัตรารางวัลดังนี้ สำหรับจะงอยปากนกอีมู 1 อันจะได้ประมาณ 180 บาท ไข่นกอีมู 1 ฟองจะได้ 3 บาท แม้จะดูน้อย แต่ค่าแรงออสเตรเลียในสมัยนั้นประมาณ 230 บาท ต่อสัปดาห์ แต่ก็เพราะเรื่องนี้ เลยทำให้เกษตรกรฆ่านกอีมูไปเกือบ 3 แสนตัว ภายในปี พ.ศ. 2503

วิธีป้องกันนกอีมูในปัจจุบัน

หลังจากที่กองทัพถอยไป หน้าที่จัดการนกอีมูก็ตกมาเป็นของ กรมการเกษตร พวกเขาได้ส่งเจ้าหน้าที่ออกไปประเมินสภาพภูมิศาสตร์ และวางแผนสร้างรั้วบริเวณรัฐออสเตรเลียตะวันตก (Western Australia’s State Barrier Fence) มันเป็นแนวรั้วป้องกันสัตว์ศัตรูพืชขนาดใหญ่ ที่ยาวประมาณ 209 กิโลเมตร และสูงประมาณ 150 เซนติเมตร

รั้วดังกล่าวเป็นรั้วโลหะแบบลวดล็อกวงแหวน มีแถบลวดหนามประกอบทั้งด้านบนและด้านล่าง โดยสร้างเชื่อมกับรั้วกันกระต่ายที่เดิมมีอยู่แล้ว 2 แนว ซึ่งพวกเขาหวังให้รั่วช่วยเปลี่ยนเส้นทางการเคลื่อนที่ของฝูงนกอีมูให้อ้อมไปทางอื่น แต่ยังคงเข้าถึงป่าและแหล่งน้ำตามธรรมชาติได้

อ่านเรื่องอื่น

Exit mobile version