Advertisement
Home พืชและสัตว์ ปลาปล้องทองปรีดี รอดจากการสูญพันธุ์ หลังกรมประมงใช้เวลาเพาะพันธุ์นาน 12 ปี

ปลาปล้องทองปรีดี รอดจากการสูญพันธุ์ หลังกรมประมงใช้เวลาเพาะพันธุ์นาน 12 ปี

ปลาปล้องทองปรีดี เป็นปลาที่พบเฉพาะเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดอยเชียงดาวเท่านั้น จะเรียกว่าเป็นสิ่งมีชีวิตถิ่นเดียวเลยก็ได้ น่าเสียดายที่ปลาชนิดนี้อยู่ในสถานะ "ใกล้สูญพันธุ์" ..แต่ดูเหมือนตอนนี้พวกมันจะรอดแล้ว

ปลาปล้องทองปรีดี (Mini dragon loach) ชื่อวิทยาศาสตร์ Schistura pridii เป็นปลาน้ำจืดขนาดเล็กชนิดหนึ่ง ในวงศ์ปลาค้อ (Balitoridae) มีรูปร่างเรียวยาวคล้ายปลาไหล แต่ทว่าลำตัวแบนข้าง หัวทู่สั้น ตาเล็ก มีหนวด 2 คู่อยู่เหนือปาก และอีก 2 คู่อยู่ใต้ปาก ลำตัวมีสีเหลืองสลับดำเป็นปล้อง ๆ ดูแลสวยงาม มีขนาดโตเต็มที่ประมาณ 4 นิ้ว

เป็นปลาที่พบในลำธารบนภูเขาสูงใน เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดอยเชียงดาว อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ที่เดียวในโลกเท่านั้น และยังเป็นปลาอาศัยอยู่ในลำธารน้ำที่ไหลแรงและเย็น

จากการศึกษาทางนิเวศวิทยาของปลาชนิดนี้ ยังไม่ค่อยเป็นที่รู้จัก เนื่องจากเป็นปลาชนิดใหม่และพบได้น้อย แต่เชื่อว่า ออกหากินในเวลากลางคืน เคลื่อนไหวได้ว่องไวมาก โดยกินอาหารได้แก่ แมลงน้ำ หรือ สิ่งมีชีวิตขนาดเล็กในลำธารเหมือนปลาชนิดอื่น ในวงศ์และสกุลเดียวกัน

12 ปี เพื่อชุบชีวิตปลาปล้องทองปรีดี

จากการที่สภาพแวดล้อมมีการเปลี่ยนแปลง ปริมาณน้ำในลำธารลดน้อยลงช่วงฤดูแล้ง และปลาชนิดนี้ถูกจับไปจำหน่ายเป็นปลาสวยงาม ทำให้ประชากรปลาปล้องทองปรีดีในแหล่งน้ำธรรมชาติลดจำนวนลง ปลาปล้องทองปรีดีจึงอยู่ในสถานะที่เสี่ยงสูญพันธุ์

จนในช่วงปี พ.ศ. 2549 เป็นต้นไป ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดเขต 1 (เชียงใหม่) ได้พยายามรวบรวมพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ปลาปล้องทองปรีดีเพื่อทำการศึกษาเพาะขยายพันธุ์ ในระยะแรกต้องประสบปัญหาเนื่องจากปลาไม่สามารถปรับตัวอยู่ในสภาพแวดล้อมขณะทดลอง

จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2560 ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดเขต 1 (เชียงใหม่) ได้นำปลาไปทดลองเพาะขยายพันธุ์ที่สถานีวิจัยประมงน้ำจืดพื้นที่สูงอินทนนท์ เนื่องจากพบว่าสภาพแวดล้อมรวมถึงสภาพภูมิอากาศบริเวณนั้น ใกล้เคียงกับแหล่งธรรมชาติของปลาที่สุด และได้คัดเลือกปลาที่มีน้ำเชื้อและไข่สมบูรณ์

โดยทำการทดลองเพาะพันธุ์ด้วยวิธีฉีดกระตุ้นฮอน์โมนสังเคราะห์ แล้วทำการปล่อยลงกล่องทดลองให้พ่อปลาและแม่ปลาผสมพันธุ์อย่างธรรมชาติในอุณหภูมิน้ำที่ 15.3-16.8 องศาเซลเซียส

จนในปี พ.ศ. 2561 กรมประมงสามารถเพาะขยายพันธุ์ในที่เลี้ยงเป็นผลสำเร็จ หลังจากที่ใช้เวลานานกว่า 12 ปี แต่ทว่าผลที่ได้ยังออกมาต่ำ จากการที่ปลาตัวเมียตกไข่คิดเป็นร้อยละ 70 แต่อัตราฟักเป็นตัวอยู่ที่ร้อยละ 37 การอนุบาลลูกปลาและการรอดอยู่ที่เพียง 200 ตัวเท่านั้น

ทั้งนี้ ถือเป็นความสำเร็จในเพาะพันธุ์ปลาปล้องทองปรีดีของไทย โดยใช้ระยะเวลาในการศึกษาทดลองกว่า 12 ปี ซึ่งกรมประมงคาดหวังว่าจะพัฒนางานวิจัยชิ้นนี้ เพื่อขยายผลไปสู่การเพิ่มปริมาณประชากรปลาในธรรมชาติให้มีจำนวนมากขึ้น ไม่สูญพันธุ์ไปจากประเทศไทย และขยายผลไปสู่การผลิตเชิงพาณิชย์เพื่อปั้นเป็นปลาสวยงามทางเศรษฐกิจด้วย

อ่านเรื่องอื่น

Exit mobile version