Advertisement
Home พืชและสัตว์ ประวัติ ‘พีค็อกแบส’ จุดเริ่มต้นการรุกรานแหล่งน้ำไทย

ประวัติ ‘พีค็อกแบส’ จุดเริ่มต้นการรุกรานแหล่งน้ำไทย

พีค็อกแบส เรื่องนี้ผมไปรวบรวมข้อมูลมาให้ได้อ่านกัน ถ้ามีผิดตรงไหนบอกได้นะ จะได้แก้ไขต่อไป โดยเจ้าพีค็อกแบส เนียมันไม่ใช่ปลาประจำถิ่นของไทย จริงๆ มันถือว่าเป็นปลารุกราน ปลาเอเลี่ยน ที่สร้างผลกระทบต่อปลาถิ่นของไทยด้วยซ้ำ มาดูเรื่องราวของมันกัน

ปลาพีค็อกแบส (Peacock bass, Eyetail cichlids) เป็นสกุลของปลาน้ำจืดขนาดกลางจนถึงขนาดใหญ่ ในวงศ์ปลาหมอสี (Cichlidae) โดยชื่อสามัญที่ว่า “Peacock bass” ที่หมายถึง “ปลากะพงนกยูง” นั้นมาจากลักษณะของลวดลายตามลำตัวและโคนครีบหางที่เป็นจุดสีทึบขนาดใหญ่คล้ายกับรำแพนหางของนกยูง โดยเฉพาะโคนครีบหางทั้ง 2 ข้าง

ย้อนกลับไปเมื่อ 10 กว่าปีก่อน

มีหนังสือตกปลาเล่มหนึ่ง เคยนำเสนอเรื่องราวการตกปลา พีค็อกแบสในบ่อตกปลาที่ราชบุรี ครั้งนั้นเป็นการตกในบ่อตกปลาซึ่งมีพื้นน้ำจำกัด ปลาพีค็อกแบสก็มีจำนวนไม่มากนัก ขณะที่ทำสกู๊ปข่าวเรื่องพีค็อกแบสในยุคนั้น ก็อดไม่ได้ที่จะคิดไปว่าพีค็อกแบสกับปลานิลนั้นเป็นปลาที่มีน้ำอดน้ำทนไม่แพ้กัน

พวกมันสามารถสืบพันธุ์ออกลูกในแหล่งน้ำเขตร้อนขึ้นในบ้านเราได้ดีพอๆ กับถิ่นกำเนิดของพวกมัน ถ้ามีการปล่อยในแหล่งน้ำธรรมชาติ เชื่อว่าไม่นานพีค็อกแบสก็จะเต็มบ้านเต็มเมือง ส่วนแนวคิดที่ว่าปลานอกหรือปลาต่างชาติจะมาทำลายพันธุ์ปลาไทยจนทำให้ปลาไทยสูญพันธุ์นั้นใหม่ๆ ก็น่าคิดอยู่ แต่เนื่องจากโลกสมัยนี้มันไร้พรมแดน

ถ้าปลานอกตกสนุกโตเร็วกินอร่อย ก็ไม่รู้จะไปกลัวอะไร ไอ้เจ้าความคิดที่พุ่งพล่านอยู่ในสมองขณะนั้น คงจะดังไปเข้าหูนักตกปลาชาวไต้หวัน ที่เดินทางมาทำงานในเมืองไทยแถวชะอำ ว่าแล้วนักตกปลาท่านนั้นก็หาพันธุ์ปลาพีค็อกแบสไปปล่อยในอ่างเก็บน้ำเล็กๆ ที่ชื่อ พุหวาย ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากที่ทำงาน ตรงเส้นบายพาสหรือถนนเลี่ยงเมืองสายชะอำ-ปราณบุรี

จากวันนั้นจนถึงวันนี้ก็หลายปี พีค็อกแบสชุดแรกๆ เริ่มแพร่ขยายพันธุ์จนเต็มไปหมด ใหม่ๆ ชาวบ้านก็ด่าหาว่าไอ้ลาย (พีค็อกแบสในชื่อไทย) มากินปลาเขาไปหมด ต่อมาชาวบ้านก็ยิ้มแก้มปริเพราะมีพ่อค้าปลาตู้มารับซื้อปลาพีค็อกแบสเป็นตัวๆ ตัวละ 35 บาท คนตกเก่งๆ (ด้วยคันไม้ไผ่) บางวันมีเงินพัน

แต่เนื่องจากปลาชนิดนี้ชุมมาก สุดท้ายพ่อค้าก็ยอมแพ้รับซื้อไม่ไหว ก็ต้องเลิกกันไปจึงเหลือแต่นักตกปลากลุ่มเล็กๆ ไม่กี่กลุ่มที่เข้าไปแสวงหาความท้าทายใหม่ๆ กับพีค็อกแบสชุดนี้ ซึ่งมีตั้งแต่ตัวขนาดฝ่ามือไปจนถึงกว่า 1 ฟุต มือเหยื่อปลอม สปินเนอร์ ปลั๊กตัวเล็กๆ รวมทั้งเหยื่อยางและสปูน ต่างใช้ตกพีค็อกแบสได้ผล

พีค็อกแบส สายพันธุ์สเป๊คเคิลด์

Peacock Speckled เจ้าตัวนี้มีหลายชื่อ ทั้งชื่อสเปน Pavon Cinchado หรือชื่ออินเดียน Tucunare ไอ้เจ้าสายพันธุ์ตัวนี้แหละที่ได้ชื่อว่าเป็นสุดยอดเกมฟิชระดับโลก ที่นักตกปลาต่างพากันอยากตกมันสักครั้งในชีวิต ฝรั่งจัดให้เป็นปลาเพื่อเกมกีฬาระดับแนวหน้าเลยทีเดียว ถิ่นกำเนิดก็เช่นเคยอยู่ในอเมริกาใต้ แต่ก็ถูกลักพาตัวไปปล่อยตามแหล่งน้ำในเขตร้อนทั่วโลก

ปลาตัวนี้สังเกตง่าย มีขีดดำพาดขวางกลางตัว 3 ขีดชัดๆ เป็นสีดำที่ตัดกับตัวสีเหลืองอมเขียว เป็นปลาที่กัดเหยื่อแทบทุกชนิด ทั้งปลั๊ก สปูน สปินเนอร์ ฟลาย ตกได้ทั้งสปินนิ่ง เบทคาสติ้ง และฟลาย เทียบปอนด์ต่อปอนด์แล้ว พีค็อกแบสตัวนี้ตกสนุก

โดยเจ้าตัวนี้มันใหญ่เรื่อยๆ ได้ถึง 30 ปอนด์ หรือราว 13-14 ก.ก. และบรรทัดที่ผมจะเขียนต่อไปนี้สำคัญมาก เพราะเจ้าพีค็อกแบสที่พุหวายก็คือ พีค็อกแบสสายพันธุ์สเป๊คเคิลด์นี้แหละ ถ้าทำเป็นลืมๆ มันก็อาจจะใหญ่เกิน 10 ก.ก.ขึ้นได้

อ่างเก็บน้ำห้วยเกษม ก็เป็นอีกแห่งที่มีเจ้าปลาพีค็อกแบสอาศัยอยู่ค่อนข้างมาก โดยอ่างห้วยเกษมเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก ไม่กว้างมากเหมาะอย่างยิ่งสำหรั้บเรือพายหรือเรือเล็กๆ ที่เกาะเครื่องเล็กๆ บรรยากาศโดยรอบๆ อ่าง วิวสวยล้อมรอบด้วยทิวเขาน้อยใหญ่

จุดเด่นของพีค็อกแบสก็คือ มันเป็นปลาที่มีเลือดนักสู้อยู่ในสายเลือดไม่ว่าตัวเล็กตัวใหญ่ มันจึงเป็นปลาที่ชอบกระโดดขึ้นผิวน้ำพร้อมกับสะบัดหัวไปมาเพื่อสลัดเหยื่อปลอมให้หลุดจากปาก เรียกว่าพอสายตึงเป็นโดด

ในต่างประเทศในแถบอเมริกาใต้นั้นในแถบอเมริกาใต้นั้น ว่ากันว่าทัวร์ตกปลาพีค็อกแบสได้รับความนิยมจากนักตกปลาทั่วโลก และทำรายได้จำนวนมหาศาลให้กับท้องถิ่น แต่ปัจจุบันในไทย มีกฎหมายห้ามเกี่ยวกับเรื่องนี้อยู่ ถ้าจะทำหรือจะเลี้ยงก็ศึกษากันให้ดี

ในปัจจุบันแม้พีค็อกแบส จะยังระบาดในไทยอยู่ แต่ก็ไม่ได้หนักมากอย่างที่คิดกันเท่าไร เพราะสามารถพบได้ในบางแหล่งน้ำ และขนาดตัวที่ตก หรือจับกันได้จะไม่ค่อยใหญ่เท่าไร แต่ถึงยังไง หากจับมันได้ก็ไม่ควรปล่อยคืนแหล่งน้ำนะ ให้เอากลับไปกิน หรือทำลายไปจะดีกว่า

อ่านเรื่องอื่น

Exit mobile version