Advertisement
Home พืชและสัตว์ ปลาที่คนมักเข้าใจผิด ‘นกแก้ว&แก้วกู่’ ความเหมือนที่แตกต่าง

ปลาที่คนมักเข้าใจผิด ‘นกแก้ว&แก้วกู่’ ความเหมือนที่แตกต่าง

หนึ่งในปลาที่เมื่อตกขึ้นมาแล้วมักจะถูกประนามอย่างหนัก หากมีการถ่ายภาพโชว์กันนั้นก็คือปลานกแก้ว ถามว่าทำไม? ก็เพราะปลานกแก้วเป็นปลาที่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศแนวปะการังอย่างมาก มันเป็นปลาที่กินฟองน้ำ ปะการังหรือสาหร่ายเป็นอาหาร และปลาอีกชนิดที่มักจะถูกเข้าใจผิดว่าเป็นปลาในวงศ์ปลานกแก้ว นั้นคือ "ปลาแก้วกู่" ซึ่งถึงมันจะเป็นญาติกัน แต่เรื่องอาหารการกิน ถือว่าคนละเรื่องเลย เดี๋ยวเรื่องนี้ผมจะมาเล่าให้ฟังว่า ปลานกแก้ว ปลาแก้วกู่ ต่างกันยังไง และอย่าลืมแชร์ให้น้าๆ ท่านอื่นอ่านกันด้วยนะ มีคลิปท้ายนะ

นกแก้ว นกขุนทอง?

ก่อนจะไปแก้วกู่ ผมขอพาน้าๆ มารู้จักกับ ปลานกแก้ว และ ปลานกขุนทองก่อน เพราะปลานกแก้วและปลานกขุนทอง เป็นปลาที่อยู่คนละสายกัน และปลาแก้วกู่ ก็อยู่ในสายของปลานกขุนทองนั้นเอง สามารถดูภาพประกอบด้านล่างๆ ได้

ถ้าพูดถึงปลานกขุนทอง คงต้องบอกว่ามันมีความหลากหลายชนิดมากที่สุดในบรรดาปลาแนวปะการังเขตร้อนทั่วโลก พวกมันมีความหลากหลายของรูปร่างและสิสันมากที่สุดด้วย ที่สำคัญคือบางชนิดยังคล้ายกับปลานกแก้วจนสร้างความสับสนแก่ผู้ที่ไม่รู้จักได้

ปลานกแก้ว แก้วกู่
ปลานกแก้ว (Parrotfish) และตัวที่ทำให้สับสนคือเจ้าปลานกขุนทอง (Wrasse) โดยปลาขุนนกขุนทองจะอยู่ในวงศ์ Labridae และปลานกแก้วอยู่ในวงศ์ Scaridae เป็นปลากินพืชกลุ่มสำคัญในแนวปะการัง

วงศ์ปลาขุนทอง ปลาแก้วกู่ คือชนิดที่สร้างความสับสนให้มากที่สุด

ในบ้านเราถ้าให้บอกปลาที่ทำให้สับสนมากที่สุด คงหนีไม่พ้น “ปลาแก้วกู่” หรือไอ้กู่ (Choerodon schoenleinii) เพราะมันเป็นปลาที่คล้ายกับปลานกแก้วจริงๆ และสำหรับนักตกปลาทะเลน่าเคยเจอกับมันบ่อยถ้าไปตกปลาตามแนวปะการัง

“ปลาแก้วกู่มีรูปร่าง สีสันใกล้เคียงกับปลานกแก้ว และยิ่งหากไปเจอในน้ำ ตอนที่มันว่ายน้ำอยู่ คงต้องบอกว่ามันมีท่าทางตอนว่ายที่เหมือนกัน”

จุดสังเกตุปลานกขุนทอง (แก้วกู่)

  • ฟัน : ปลาที่มีฟันเชื่อมกันเป็นแผ่นจนมีลักษณะเป็นจะงอยปากคล้ายนกแก้ว ไว้สำหรับครูดกินสาหร่ายที่เคลือบบนก้อนปะการังตาย นั้นคือปลานกแก้ว และ “ปลานกขุนทอง” แก้วกู่ ฟันจะเป็นฟันเขี้ยวชัดเจน เพราะอาหารของปลาชนิดนี้คือ สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังขนาดเล็กบางชนิด และยังฟันใช้ขบเปลือกหอย เปลือกปู
  • ปาก : ปลานกแก้วมีปากเป็นจะงอยไม่สามารถยืดหดได้ แต่ปลานกขุนทองนั้นขากรรไกรไม่เชื่อมต่อกัน บางชนิดยืดหดได้ยาวเพื่อใช้ยื่นเข้าไปจับอาหารในซอกเล็กๆได้ เช่น ปลานกขุนทองปากยาว (Gomphosus varius) และปลานกขุนทองปากยื่น (Ephibulus insidiator)
  • ริมฝีปาก : ปลานกแก้วในสกุลจะเห็นฟันเป็นจะงอยชัดเจน แต่ปลานกขุนทองมักมีริมฝีปากหนากว่า เห็นได้ชัดโดยเฉพาะในสกุล Hemigymnus
ปลาแก้วกู่จะชอบกินสัตว์ กุ้ง หอย สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังขนาดเล็ก และชอบขบเปลือกหอย เปลือกปูด้วย
ปากและฟันของปลาในวงศ์ปลานกแก้ว

สรุปซะนิด ปลาในวงศ์ปลานกแก้วจะกินพืชต่างๆ ในแนวปะการัง ส่วนวงศ์ปลานกขุนทอง จะกินสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังขนาดเล็ก เช่นกุ้ง ปู หอย ฟันของพวกมันจึงต่างกัน ..ก็หวังว่าข้อมูลส่วนนี้จะช่วยน้าๆ ได้บ้างนะครับ

คลิปปลานกแก้วหัวโหนก

คลิปปลาแก้วกู่

https://youtu.be/oMAzpDFwjKU

ข้อมูลเพิ่มเติมวงศ์ปลานกขุนทอง

วงศ์ปลานกขุนทอง (Labridae) เป็นวงศ์ของปลาทะเลปลากระดูกแข็งวงศ์หนึ่ง ใช้ชื่อวงศ์ว่า Labridae ในอันดับปลากะพง (Perciformes)

โดยปกติมีฟันแบบฟันเขี้ยวแหลม หรือฟันตัดเพียงแถวเดียว ฟันที่หลอดคอมีขนาดใหญ่พัฒนาดี ไม่มีฟันบนกระดูกโวเมอร์และกระดูกพาลาติน เกล็ดที่ปกคลุมลำตัวมีขนาดใหญ่เป็นแบบขอบเรียบ เส้นข้างลำตัวอาจขาดตอนหรือสมบูรณ์ เป็นปลาที่มีสีสันสดใสสวยงาม รูปร่างลำตัวมีหลายรูปแบบ อาศัยอยู่ในแนวปะการัง หรือกองหินใต้น้ำ

มีขนาดรูปร่างแตกต่างหลากหลายกันมาก ตั้งแต่มีความยาวเพียง 20 เซนติเมตร ไปจนถึงเกือบ 3 เมตร อย่าง ปลานกขุนทองหัวโหนก (Cheilinus undulatus) ซึ่งเป็นชนิดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในวงศ์นี้ และจัดเป็นปลากระดูกแข็งที่มีขนาดใหญ่ที่สุดชนิดหนึ่งที่พบได้ในแนวปะการัง

ปลานกขุนทองหัวโหนก (Cheilinus undulatus)

มี 82 สกุล พบมากกว่า 600 ชนิด นอกจากปลานกขุนทองหัวโหนกแล้ว ยังมีชนิดอื่น ๆ ที่รู้จักกันดี อาทิ ปลานกขุนทอง (Halichoeres kallochroma)

อ่านเรื่องอื่น

Exit mobile version