Advertisement
Home พืชและสัตว์ ปลาเทโพ เจ้าหูดำ แห่งลำน้ำไทย (Black Ear Catfish)

ปลาเทโพ เจ้าหูดำ แห่งลำน้ำไทย (Black Ear Catfish)

ถ้าพูดถึงปลาเทโพ ก็คงคิดถึงปลาที่หน้าตาคล้ายๆ เทพา หรือ สวาย แต่ผมว่าสำหรับเทโพ เราสามารถแยกความแตกต่างของมันระหว่างเทโพ และเทพาได้ เพราะหลักๆ เลยเทโพจะได้ชื่อว่าปลาหูดำ เพราะเทโพตรงใกล้ๆ กับครีบข้างตัวมันจะมีสีออกดำๆ และสำหรับเทโพ สำหรับนักตกปลาผมเห็นตกกันได้บ่อยที่แม่น้ำเจ้าพระยา และเป็นปลาที่กินเหยื่อปลอมด้วยนะ

ปลาเทโพ (ชื่อวิทยาศาสตร์: Pangasius larnaudii) ปลาน้ำจืดชนิดหนึ่ง อยู่ในวงศ์ปลาสวาย (Pangasiidae) มีส่วนหัวและจะงอยปากมน ปากอยู่ค่อนไปทางด้านล่าง รูปร่างป้อมสั้น ปลาขนาดใหญ่มีลำตัวส่วนท้องลึก ปลายครีบหลัง ครีบท้อง ครีบอก ครีบท้อง และครีบก้นยื่นเป็นเส้นยาวเรียว มีแต้มสีดำเห็นชัดเจนที่ฐานครีบอก ตัวมีสีเทาคล้ำอมน้ำตาล ด้านข้างมีสีเทาจาง ด้านท้องสีจางอมชมพู ครีบสีจาง ครีบก้นมีแถบสีคล้ำตามยาว ครีบหางมีแถบสีคล้ำทั้งตอนบนและตอนล่าง มีขนาดประมาณ 50 เซนติเมตร ใหญ่สุดได้ถึง 1.5 เมตร

ปลาเทโพ

เป็นปลาน้ำจืดของไทยที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจอีกชนิดหนึ่ง จัดอยู่ในครอบครัวเดียวกับปลาสวายและปลาบึก ปลาเทโพมีชื่อเรียกตามภาษาท้องถิ่นแตกต่างกันออกไป เช่น คนหนองคายจะเรียกว่า “ปลาหูหมาด”

ส่วนคนทางอีสานใต้ เช่น จ.อุบลราชธานี, ศรีสะเกษ, สุรินทร์, มหาสารคาม, ร้อยเอ็ด ฯลฯ เรียกว่า “ปลาปึ่ง” ในประเทศไทยพบว่าปลาเทโพอาศัยอยู่ในแม่น้ำสายต่าง ๆ เช่น แม่น้ำโขง แม่น้ำมูล หรือแม้แต่สาขาของแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำปิงและยังสามารถพบได้ในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ เช่น อ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล และเขื่อนสิริกิติ์ ด้วยปลาเทโพจัดเป็นปลาน้ำจืดที่มีรสชาติอร่อย ราคาแพงและเป็นที่ต้องการของตลาด ทำให้ปลาเทโพที่จับได้จากธรรมชาติเหลือน้อยลง

ปัจจุบันทางศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดอุบลราชธานีได้ทำการเพาะพันธุ์ปลา เทโพและมีการส่งเสริมเป็นอาชีพให้กับเกษตรกรในเขตพื้นที่ภาคอีสานตอนใต้ได้ นำไปเลี้ยงในบ่อดินและเลี้ยงในกระชัง สร้างรายได้ดีให้กับเกษตรกร ทางศูนย์ฯได้แนะนำในการเตรียมพ่อ-แม่พันธุ์ปลาเทโพควรจะมีอายุประมาณ 3 ปี

โดยน้ำหนักพ่อ-แม่พันธุ์ในอายุดังกล่าวจะมีน้ำหนักตัวไม่ต่ำกว่า 2.5 กิโลกรัม การเลี้ยงพ่อ-แม่พันธุ์ควรเลี้ยงในบ่อดินแบบรวมเพศ ควรปล่อยพ่อพันธุ์และแม่พันธุ์ในอัตราส่วน 1 : 2 ในพื้นที่บ่อครึ่งไร่ปล่อยพ่อพันธุ์จำนวน 20 ตัว และแม่พันธุ์จำนวน 40 ตัว แบ่งบ่อโดยใช้ตาข่ายพลาสติกกั้นไว้เป็นสองส่วน ปล่อยพ่อ-แม่พันธุ์ด้านละ 30 ตัว

ในการคัดเลือกพ่อ-แม่พันธุ์ใช้วิธีการตรวจสอบความสมบูรณ์เพศของพ่อพันธุ์ ด้วยการใช้มือรีดเบา ๆ บริเวณช่องเพศจะพบน้ำเชื้อไหลออกมา สำหรับแม่พันธุ์ปลาเทโพสังเกตจากท้องที่อูมเป่ง ผนังท้องบางและนิ่ม ช่องเพศขยายตัวมีสีชมพู ดูดไข่มาตรวจสอบความสมบูรณ์ ปลาเทโพสามารถเพาะพันธุ์ได้ในช่วงปลายเดือนมิถุนายน-สิงหาคม โดยการผสมเทียม แม่พันธุ์จะตกไข่หลังจากการฉีดฮอร์โมนประมาณชั่วโมงที่ 11-12 ที่อุณหภูมิน้ำ 27-29 องศาเซลเซียส ลูกปลาจะฟักออกเป็นตัวในระยะเวลา 21-25 ชั่วโมงหลังจากตกไข่

ลูกปลาเทโพ

รูปแบบการเลี้ยงปลาเทโพของเกษตรกรในเขตพื้นที่ จ.อุบลราชธานี จะนิยมเลี้ยงในกระชังในแม่น้ำมูล โดยซื้อลูกปลาเทโพขนาด 1-2 นิ้ว นำมาอนุบาลในกระชังมุ้งเขียวจนมีขนาดตัวประมาณ 5 นิ้ว จึงนำลงเลี้ยงในกระชังในแม่น้ำมูล ขนาดของกระชังเลี้ยง 5x6x2 เมตร

อาหารที่ใช้เลี้ยงส่วนใหญ่จะใช้ไส้ไก่และหัวไก่นำมาบด (ต้นทุนกิโลกรัมละ 8 บาท) ให้อาหารวันละ 2 ครั้ง สลับกับการให้อาหารเม็ดปลาดุกและเศษอาหาร ใช้ระยะเวลาในการเลี้ยงประมาณ 1 ปี จะเริ่มนำปลาเทโพทยอยออกจำหน่าย ราคาจำหน่ายปากกระชังเฉลี่ยกิโลกรัมละ 55 บาท.

สุดท้ายต้องบอกว่าหากหาคำว่า “เทโพ” ในเว็บไซต์ รับประกันได้เลยว่าจะเจอแต่เรื่องของแกงเทโพ นั้นเพราะปลาเทโพ เป็นปลาที่นิยมบริโภค โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อนำมาปรุง “แกงเทโพ” มีการเพาะเลี้ยงในประเทศไทยมานานกว่า 50 ปี และนิยมเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม และปลาชนิดนี้มีชื่อเรียกอื่น ๆ อีก เช่น “หูหมาด”, “หูดำ” หรือ “ปึ่ง”

อ่านเรื่อง : ปลาเทพา นักล่าแห่งเจ้าพระยา 

Exit mobile version