Advertisement
Home บทความพิเศษ วิธีประกอบเท็กซัสริก กับวิธีใช้ที่อ่านจบตกเป็นเลย

วิธีประกอบเท็กซัสริก กับวิธีใช้ที่อ่านจบตกเป็นเลย

เท็กซัสริก (Texas rig) น่าจะเป็นเนื้อหาที่มีมากที่สุดใน Fishingthai เลยก็ว่าได้ อาจจะเพราะผมชอบตกด้วยวิธีการนี้เป็นพิเศษ แต่ไม่เป็นไร อันนี้ถือว่าเป็นการเรียนเพิ่มเติม เสริมความรู้กันไป โดยบทนี้เป็นคลิปการประกอบเท็กซัสริกนะครับ บางทีถ้าเป็นภาพอาจดูไม่ค่อยเข้าใจ และยังมีบทความให้อ่าน อีกเพียบลองดูครับ

ตกปลาช่อน ด้วย เท็กซัสริก

วิธีการเข้าสายเกี่ยวเหยื่อมีมากมาย องค์ประกอบหลักคือ ชนิดเหยื่อที่ใช้ กับวิธีการสร้างแอ็คชั่น บางวิธีใช้กับการจอดเรือคร่อมบริเวณที่ปลาอยู่แล้วหย่อนเหยื่อลงไปสร้างแอ็คชั่นอยู่กับที่ บางวิธีใช้สำหรับบริเวณที่มีกระแสน้ำไหล แต่สำหรับการตกปลาช่อนบ้านเราซึ่งส่วนใหญ่ใช้วิธีตีส่งเหยื่อออกไปจากริมฝั่งแล้วลากกลับเข้ามา ดูเหมือนการเข้าสายแบบเท็กซัสริก (TEXAS RIG) จะค่อนข้างเหมาะสมและได้ผลดีเป็นที่คุ้นเคยกับนักตกปลาช่อน ที่สำคัญมันทำได้ไม่ยาก อุปกรณ์ที่ใช้ประกอบก็หาได้ทั่วไป สุดท้ายก็คือตัวนักตกปลากับปลา

หัวข้อมีดังนี้

  1. เกี่ยวกับตัวเบ็ดเท็กซัสริก (Texas Rig)
  2. เกี่ยวกับตะกั่ว (sinker)
  3. พื้นฐาน ตกปลาช่อน ด้วยเท็กซัสริก แบบจริงๆ

 

เกี่ยวกับตัวเบ็ดเท็กซัสริก (Texas Rig)

Texas Rig เป็นเทคนิคการตกปลาที่แทบจะสามารถใช้ได้กับทุกที่ ทุกเวลา ซึ่งในอดีตคำว่า “Texas Rig” หรือ Texas Rigging” ถูกใช้เพื่ออธิบายวิธีการตกปลา ที่ใช้ เหยื่อพลาสติกอ่อน (Soft plastic) ที่จับคู่กับตะกั่วแบบ Bullet หรือ Nose Weight (ตะกั่วแบบเจาะเข้าที่หัวหรือจมูกของเหยื่อยาง) และตะขออีก 1 ตัว ด้วย 3 สิ่งนี้ ก็เรียกว่า Texas Rig

Texas Rig เป็นเทคนิคที่ตกปลาได้หลายขนาด เหมาะที่จะใช้ตกในหมายที่มีพื้นน้ำเปิด และกุญแจสำคัญไม่ได้แตกต่างกันมากนัก ไม่ว่าจะไปตกที่ไหน หรือตกอะไร ก็คือ “ตัวเบ็ด” แต่ถึงงั้นตัวเบ็ดก็มีมากมายหลายขนาด และรูปทรงก็ต่างกันเล็กน้อย ดังนั้นอยากจะ ตกปลา ด้วย Texas Rig ต้องเริ่มต้นด้วยตัวเบ็ดก่อน

ทำความเข้าใจเกี่ยวกับขนาดของตัวเบ็ด

วิธีการดูตัวเบ็ดว่ามีขนาดเล็ก หรือใหญ่จากเบอร์ ซึ่งเป็นพื้นฐานของการตกปลา ทั้งยังเหมือนเป็นข้อตกลงที่เป็นมาตรฐานกันระหว่างผู้ผลิตและนักตกปลา นั้นคือถ้าเป็นตัวเบ็ดขนาดใหญ่จะใช้คำแทนว่า (1/0 ไปจนถึง 10/0 ถ้าออกเสียไทยๆ ก็ 1/0 ก็คือ หนึ่งโอ, one aught) ยิ่งตัวเลขมากขนาดตัวเบ็ดก็ยิ่งใหญ่ขึ้น และตัวเบ็ดขนาดเล็กเบอร์ (1 ถึง 14) จะไม่มีตัว “0” ตรงนี้ยิ่งตัวเลขเยอะ ขนาดตัวเบ็ดก็ยิ่งเล็ก (14 เล็กกว่า 13)

 

การเลือกตัวเบ็ดให้เหมาะสมเป็นสิ่งสำคัญ

ถ้าจะตกปลาด้วย  Texas Rig การเลือกใช้ตัวเบ็ดให้เหมาะสมเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งตัวเบ็ดเป็นสิ่งที่ต้องเลือกใช้ก่อนก็จริง แต่สิ่งที่จะกำหนดขนาดของตัวเบ็ดคือ “เหยื่องยาง” ที่เราเลือกใช้ต่างหาก ตัวหนอนยาง Ribbon tail  ขนาดใหญ่ 10 นิ้ว จะเหมาะที่จะจับคู่กับตัวเบ็ดขนาด 5/0 ได้ดีที่สุด

ในขณะที่ใช้เหยื่อขนาดที่เล็กลง หากเลือกใช้ตัวเบ็ดขนาดใหญ่ จะเป็นการทำลายเหยื่อ และยังทำให้แอคชั่นไม่ดีอีกด้วย ดังนั้นอยากจะแนะนำให้มีตัวเบ็ดขนาด 2/0, 3/0 และ 4/0 ติดไว้เสมอ สำหรับการตกปลาด้วย Texas Rig

การใช้ตัวเบ็ดขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ แต่ให้มีขนาดเหมาะสมกับเหยื่อ จะเป็นวิธีที่ดีที่สุด เมื่อเราตกปลา เมื่อสู้กับปลา กับสาย Flurocarbon ขนาด 20 ปอนด์ กับคันเบ็ด Medium-heavy Action การใช้ตัวเบ็ดขนาดเล็กเกินไปจะทำให้มีโอกาสเสียปลาไป เนื่องจากตัวเบ็ดแนวโน้มจะงางออก โดยเฉพาะไม่สามารถทนแรงดึงที่ใช้ในการงัดปลาให้ลอยขึ้นจากโคลน หิน หรือหญ้าได้

หากต้องการเลือกตัวเบ็ดที่มีขนาดเล็ก และอุปกรณ์ที่เล็กลง จะเหมาะกับการตกปลาที่หมายที่น้ำใส สามารถมองเห็นสิ่งต่างๆ ได้พอสมควร สุดท้าย การเลือกใช้ขนาดตัวเบ็ดที่เหมาะสม จะเป็นตัววัด หรือตัวเพิ่มความสำเร็จให้กับการตกปลาด้วยเทคนิค Texas Rig

 

เกี่ยวกับตะกั่ว (sinker)

ในการตกปลาด้วยเทคนิค Texas Rig (เท็กซัสริก) จำเป็นต้องมีตะกั่วที่เรียกว่า Bullet-shape slip sinker or nose weight (ตะกั่วแบบลูกปืน- แบบติดนึบ หรือที่ไหลไปตามสายหรือตะกั่วแบบฝังเหยื่อที่มีลักษณะเป็นเข็มหรือแบบแขวน) ซึ่งน้ำหนักทั่วไปที่ใช้สำหรับ Texas Rig จะอยู่ในช่วงระหว่าง 1/32 ออนซ์ จนถึง 2 ออนซ์
ด้วยการเลือกน้ำหนักที่เหมาะสมต่อการใช้งานแบบเฉพาะเจาะจง จะสามารถพิจารณาง่ายๆ ด้วยหลัก 4 ข้อ ได้แก่ อัตราการจม (Rate of fall) , ปลาอยู่ลึกแค่ไหน (Depth of the fish), ความหนาแน่นของวัชพืช (Vegetation density) และที่สำคัญมากคือ ลม (Wind)

อัตราการจม

หากจะยกตัวอย่าง ถ้าตกปลาด้วย Stickbait อย่าง Senko (เหยื่อยางที่คลายๆ หนอนอ้วนๆ กลมๆ ) เมื่อเหยื่อตกน้ำ มันจะไหลผ่านน้ำ และจะจมลงอย่างช้าๆ ตามแนวนอน ซึ่งเหยื่อลักษณะนี้จะใช้การจมในการเรียกความสนใจปลานักล่าอย่างปลา Bass ได้ดี หากเพิ่มน้ำหนักมันก็จะจมได้เร็วขึ้นอีกหน่อย โดยปกติแล้วหากไม่ต้องการให้เหยื่อจนเร็วมากนัก จะใช้น้ำหนักประมาณ 1/32 -1/8 ออนซ์ หรือถ้าจำเป็นต้องใช้หนักกว่านี้ก็ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขอื่น และควรใช้ตะกั่วที่สามารถวิ่งได้ตลอดทั้งสายด้วย

ในกรณีที่เป็นหนอนขนาดใหญ่แบบที่มีหาง มันจะทำงานได้ดีหากเป็นการลากผ่านด้านล่าง จึงควรใช้น้ำหนักที่มากกว่า เช่น 3/8- 1/2 ออนซ์  ซึ่งจะช่วยให้เหยื่ออยู่ในระดับพื้นด้านล่างได้อย่างต่อเนื่อง

แต่ถึงยังงั้นก็ไม่ใช่เหตุผลเดียวที่ใช้ตะกั่วหนักกับหนอนขนาดใหญ่ แต่ใช้เพื่อบางเทคนิคเช่น การทำให้เหยื่อลอยด้วยการกระดกปลายคัน และปล่อยให้จม เป็นจังหวะ ช้าเร็ว ตรงนี้จะดึงดูดปลาได้เช่นกัน  วิธีนี้เหมาะกับหมายที่มีพื้นแข็ง หากต้องการใช้วิธีกระดกคันให้เหยื่อลอย


ปลาอยู่ลึกแค่ไหน

ข้อนี้รู้ได้ยังไง ว่าปลาอยู่ลึกแค่ไหน ข้อนี้อาจจะต้องศึกษาหมาย, ปลาที่จะตก และมีความรู้เกี่ยวกับคอลัมน์น้ำ หากให้ยกตัวอย่างความรู้เกี่ยวกับปลาที่ตก ตัวอย่างว่าเป็นปลาช่อน มันจะเป็นปลาที่มักจะหากินอยู่ที่พื้น หรือสูงกว่าพื้น 1 – 2 ฟุต หากเป็นปลากะพงในช่วงหากิน มักจะเจออยู่ในระดับกลางน้ำ จนถึงผิวน้ำเป็นต้น

ในกรณีที่กำหนดขอบเขตความลึกที่ต้องการได้แล้ว ก็จะสามารถเลือกน้ำหนักที่เหมาะสมได้ เช่น ถ้าตกปลาในหมายที่ไม่ใหญ่ และความลึกอยู่ประมาณ 5 ฟุต และระยะตีไม่ไกล ตัวเลือกที่เหมาะคือ 1/8 ออนซ์  มันจะจมอย่างช้าๆ หรือหากความลึกที่ต้องการอยู่ประมาณ 20 ฟุต สามารถเลือกใช้ได้ระหว่าง 1/4 , 5/16 และ 3/8 ออนซ์ หากความลึกมากกว่า 20 ฟุต จะใช้ 1/2 ออนซ์ (แต่ยังไงซะในไทยก็ไม่ตกปลาด้วย Texas Rig ในน้ำที่ลึกขนาดนี้)

ความหนาแน่นของวัชพืช

กุญแจสำคัญของการตกปลาด้วยเท็กซัสริก ในหมายที่มีวัชพืช ตะไคร่น้ำ หรือพืชชนิดอื่นๆ จะต้องใช้น้ำหนักที่มาก ควรเลือกใช้ 1-1/2  ออนซ์ หรืออาจจะต้องหนักกว่านั้น เพื่อให้จมผ่านวัชพืชไปจนถึงที่ๆ ปลาอยู่ได้ หรือหากน้ำไม่ลึกมาก ก็สามารถเลือกใช้ที่เบาลงได้เช่นกัน โปรดจำไว้ว่าในหมายที่แน่นไปด้วยวัชพืช หากเหยื่อไปไม่ถึงปลา และปลามองไม่เห็นเหยื่อ ก็จะไม่ได้ปลาง่ายๆ แน่นอน

ลม

กฎทั้งหมดที่พูดมานั้น ไม่สำคัญเท่ากับธรรมชาติ ซึ่งก็คือ “ลม” แม้ว่าคุณจะมีเหยื่อที่ยอดเยี่ยมก็ใช้งานไม่ได้ หากต้องเจอกับลมแรงๆ แต่หากคุณเตรียมอุปกรณ์ Texas Rig ด้วยน้ำหนักมากพอ ที่เหมาะสมกับลมและกระแสน้ำ มันจะช่วยให้คุณสามารถตกปลาได้ ถึงแม้จะมีผลกระทบจากลมอยู่บ้างก็ตาม ..ด้วยลมจะทำให้ความแม่นยำในการตีตกลงไปมาก คุณจึงต้องพยายามมากขึ้นเพื่อให้สามารถตีเหยื่อไปในตำแหน่งที่ต้องการได้

 

พื้นฐาน ตกปลาช่อน ด้วยเท็กซัสริก แบบจริงจังหน่อย

กล่าวถึงเอกลักษณ์ที่สำคัญของความเป็น เท็กซัสริก อยู่ 2 ประการ คือ

  1. เวลาเกี่ยวเหยื่อยางต้องซ่อนคมเบ็ด
  2. Worm Weight (ตะกั่วที่ออกแบบสำหรับเหยื่อยาง มีหลุมอยู่ด้านท้ายให้ครอบไปบนหัวเหยื่อยาง) เวลาใช้งาน จะอยู่ติดหรือครอบไปบนหัวเหยื่อยาง

เพื่ออะไร ? ไม่มีอะไรซับซ้อน…

  1. น้ำหนักของตะกั่วช่วยให้ส่งเหยื่อไปได้ไกล และตรงเป้าหมายมากขึ้น
  2. ประเด็นสำคัญ ด้วยรูปทรงของตะกั่ว Worm Weight ทำให้เหยื่อยางเดินผ่านอุปสรรคต่าง ๆ ในแหล่งน้ำไปได้อย่างสะดวกถึง

สารพัดริก (RIG) หลาย ๆ รูปแบบ มีการเกี่ยวเหยื่อแบบซ่อนคมเบ็ด
เบ็ดจะไม่ไปเกี่ยวอุปสรรคต่าง ๆ ก่อนปลาจะเข้ากัด

แต่ริกแบบ เท็กซัส เวลาลากหรือกระตุก (Jerk) ตะกั่วจะอยู่ที่หัวเหยื่อยาง ช่วยในการ แหวก มุด ลอด ผ่านอุปสรรคต่าง ๆ ได้อย่างสะดวกมากขึ้น

แล้วทำไมไม่ใส่อุปกรณ์ที่ล็อคให้ตะกั่วติดกับหัวเหยื่อไปเลย
เช่น ไลน์สต๊อปเปอร์ ? ..ตามใจเลย เลือกใช้ตามสะดวก


ใส่ลูกปัดทำไม ?

  1. ป้องกันปมเงื่อนมุดเข้าไปติดคาอยู่ในตะกั่ว จะทำให้เหยื่อไม่เป็นอิสระ ออกแอ็คชั่นไม่เต็มที่ เวลาตวัดตะกั่วอาจยังอยู่ในปากปลาด้วย ทำให้เบ็ด Hook เข้าปากปลายากขึ้น ตามทฤษฎีเวลาตวัด ตะกั่วควรวิ่งตามสายออกจากปากปลาไป
  2. ป้องกันปมเงื่อนช้ำ ลดโอกาสสายขาดบริเวณปมเงื่อน
  3. ลูกปัดบางชนิด เวลากระทบกับตะกั่วจะเกิดเสียง เรียกความสนใจจากปลา

ไม่ใส่ได้ไหม.? ..ได้เช่นกัน ตามอัธยาศัยครับ

นิยามส่วนตัวที่ว่า การตกปลาช่อนด้วยเหยื่อยาง คือการทำเรื่องง่าย ๆ ให้เป็นเรื่องยาก แต่เพลิน” เกิดขึ้น มันคือการใส่อะไรที่มากมายลงไป “ตรงกลาง” ระหว่าง “ตีเหยื่อออกไป…….ลากปลาขึ้นมา”

นี่คือการถ่ายทอดประสบการณ์ของผม
กับการตกปลาช่อนด้วยเหยื่อยางเผื่อจะเป็นประโยชน์แก่ทุกท่าน

 

  1. ริกแบบเท็กซัส ค่อนข้างเป็นที่นิยมในบ้านเรา เพราะการประกอบ เข้าสาย เกี่ยวเหยื่อ ทำได้ง่าย ดูตัวอย่างครั้งเดียวก็เข้าใจ
  2. เหยื่อยาง ที่ใช้กับ เท็กซัสริก นักตกปลามักจะเลือกเหยื่อที่ถูกออกแบบมาให้เกิดแอ็คชั่นได้ง่ายๆ ด้วยตัวมันเอง ซึ่งมักจะให้ความมั่นใจแก่นักตกปลามากกว่าเหยื่อที่มีรูปทรงที่ดูแล้วมองไม่ออกว่าจะทำยังไงให้มันดูเหมือนมีชีวิตและเป็นที่สนใจของปลา
  3. นักตกปลา ด้วยเหยื่อปลอมบ้านเรา เคยชินกับการตีเหยื่อออกไป แล้วก็ลากกลับเข้ามา เหยื่อแต่ละประเภทก็ออกแอ็คชั่นต่างกันไป แต่พอมาลองใช้เหยื่อยางก็ยังติดการลากกลับมา ให้เหยื่อว่ายน้ำ ที่จริงการสร้างแอ็คชั่นให้เหยื่อมีมากมายมหาศาลจนแทบหาข้อยุติไม่ได้ “จินตนาการ” จึงเป็นข้อสรุป ก็คือ ลองไปเลยครับ ลองหลาย ๆ วิธี หลาย ๆ รูปแบบ ปลาไม่กัดก็เปลี่ยนวิธี เปลี่ยนเหยื่อ ปลากัดก็จดจำไว้ สำคัญคือ “อย่าเบื่อ อย่าท้อ” ใช้เหยื่อยางผมบอกได้เลย ถ้าไม่อดทนก็แทบโยนคันทิ้ง ทั้งที่รู้ว่าปลาเต็มบ่อ แต่บทพ่อจะไม่กัดขึ้นมา ใครจะทำไมฃ

แนวทางสำหรับเท็กซัสริก มีวิธีอยู่ไม่มาก

  1. ส่งเหยื่อไปตรงจุดที่คิดว่ามีปลา โดยส่งเหยื่อให้ต่ำ ๆ เรียดผิวน้ำหน่อย ถ้ามีลักษณะเป็นตลิ่ง ก็ส่งขึ้นขอบตลิ่งไปเลย กระตุกเบา ๆ พอเหยื่อตกน้ำ หยุดก่อน ถ้ามีปลาตรงนั้น ส่วนใหญ่จะกัดทันที แต่ถ้าไม่มีปลากัด พอวงคลื่นน้ำหายไป ค่อย ๆ กรอสายตึง เจิร์คเบา ๆ 1 ครั้ง แล้วหยุด ถ้าปลาว่ายตามเสียงเหยื่อตกน้ำมา มักจะกัดจังหวะนี้
  2. เหยื่อที่มีลักษณะผิวไม่เรียบ เช่น หนอนขน หนอนบั้ง ลากมากกว่าเจิร์ค ลากช้าแค่ไหน ? ช้าสุดขีดเท่าที่รู้สึกได้ว่าหนอนมันกระดึ๊บ ๆ มากับพื้น เหยื่อพวกนี้หางสั้น เวลาลากมาลำตัวจะสร้างแรงสั่นสะเทือนที่ปลารู้สึกได้ ขูดกับดินมาเลยแต่หางจะโบกแบบระริก ๆ มา ถ้ารู้สึกว่าหนืด ๆ คือพื้นใต้น้ำเป็นโคลนเหลวเกินไป ก็เจิร์คให้โดดบ้างก็จะดี
  3. ปลาไม่กัดเหยื่อยางที่อยู่นิ่ง ๆ เฉย ๆ ปลากัดเพราะคิดว่าเจ้านี่มีชีวิต เป็นอาหาร กัดเพราะว่าเจ้านี่มันดูกะปลกกะเปลี้ย ร่อแร่ ๆ กัดเพราะว่า เจ้านี่ละเมิดอธิปไตย ล้ำถิ่น ปล่อยให้ผ่านหน้าไปเฉย ๆ ได้ไง เอาซะหน่อย
  4. เหยื่อประเภท Grub ที่หางยาวกว่าลำตัว ไส้เดือนยาง พวกนี้แอ็คชั่นอยู่ที่หาง เจิร์คเข้าไปครับ เจิร์คโดด ปล่อยตก ลดคันเก็บสายพอตึง เจิร์คอีก เจิร์คเร็วแค่ไหน ? ตามใจพระเดชพระคุณครับ แต่อย่าให้เร็วขนาดโดดสามทีเหยื่อกลับถึงตัวต้องตีใหม่
  5. บนใบบัว ตีลงไปเลย ลากเหยื่อให้ตกลงร่องระหว่างใบเบา ๆ ฟรีสปูล ส่งสายไปหน่อย ทำไงต่อ ? อ๋อ ปู่เราเรียกว่า “หยก” จับที่สายหน้ารอก กระตุกขึ้น ปล่อยลง ระวังให้ดีละกันครับ ถ้า “ปั๊บ” !! เข้าให้ก็อย่าส่งนาน วัดหนักๆ แล้วรีบเอามันออกมาในชัยภูมิที่เราได้เปรียบกว่า อ้อ หมายใบบัวนี่ จิ้งจกยางเป็นพระเอกครับ และ Weightless หรือไร้ตะกั่วจะเวิร์คมาก กลัวตีไม่ออกก็พันตะกั่วฟิวส์ที่ท้องเบ็ดไปซะหน่อย หรือจะใช้เบ็ดที่หุ้มตะกั่วสำเร็จรูปเลยก็ได้ครับ

จังหวะได้เสีย (ที่จะได้ลุ้น)
– เหยื่อตกน้ำใหม่ ๆ
– กำลังลากหรือเจิร์คเพลิน ๆ
– ระยะ 5 เมตร ตรงหน้าเรานี่ล่ะ

สเต็ปที่ใช้ได้ดีกับเท็กซัสริก

นอกจากตีเหยื่อไปที่ไหน เหยื่อแบบนี้ใช้ยังไงแล้ว ยังมีการสร้างจังหวะ หรือสเต็ปให้กับเหยื่ออีกด้วย โดยปกติแล้ว ปลาช่อน จะเลือกกัดเหยื่อในจังหวะที่ต่างกัน ในการตกแต่ละครั้ง จะต้องหาให้เจอ

ลากและหยุด (walk & wait)

วิธีนี้ใช้ดีกับเหยื่อยางที่มีลักษณะผิวไม่เรียบ เหยื่อไม่มีหางตัวอ้วน ๆ เหยื่อหางสั้น ๆ เช่น หนอนขน หนอนบั้ง เหยื่อที่หัวโต ๆ หัวตัด เหยื่อพวกนี้จะสร้างฟองอากาศ ความสั่นสะเทือน ขุดดินให้ฟุ้ง จากการลาก เวลาลากให้ลากช้า ๆ ลากประมาณ 1 หลา แล้วหยุดรอ แต่ถ้าจับความรู้สึกได้ว่า ลากแล้วเกิดความหนืดขึ้นมาก ๆ แสดงว่าเหยื่อมุดเลน ให้กระตุกเบา ๆ 1 ครั้ง แล้วเริ่มลากต่อ

กระตุกโดดแล้วปล่อยตก (jerk & drop)

วิธีนี้ใช้ได้ดีกับเหยื่อยางที่มีหางงอทั่วไป เช่น Grub ไส้เดือนยาง ให้กระดกปลายคันเป็นจังหวะช้า ๆ แล้วหยุด เหยื่อจะถูกกระตุกขึ้น แล้วหัวทิ่มลงตามน้ำหนักตะกั่ว หางจะโบกสร้างคลื่นและความสั่นสะเทือน ตามประสบการณ์ ปลามักจะกัดเมื่อเหยื่อตกลงถึงหน้าดิน คือ พอเริ่มจะกระดกคันครั้งต่อไป พบว่าสายหนักแล้ว ดังนั้น พยายามไล่สายให้เกือบตึงเสมอก่อนกระดกคันแต่ละครั้ง

กระตุกแบบถี่ ๆ ( jerk )

วิธีนี้ใช้กับเหยื่อยางประเภท กบยาง (Toad, Frog) (ไม่ใช่กบยางผิวน้ำ เช่น scum frog) และหนอนสองหาง ให้ลดปลายคันลงต่ำออกด้านข้างตัว กระตุกเบา ๆ และถี่ เหยื่อจะออกแอ็คชั่นในลักษณะกบว่ายน้ำมาเรี่ย ๆ หน้าดิน วิธีนี้เหยื่อจะกลับถึงตัวค่อนข้างเร็ว และปลามักจะชาร์จเหยื่อด้วยความรุนแรง

เคล็ดไม่ลับ ในการเลือกใช้ช็อคลีดเดอร์สำหรับ เท็กซัสริก

Exit mobile version