Advertisement
Home บทความพิเศษ รูป รส กลิ่น เสียง กับพฤติกรรมของปลา

รูป รส กลิ่น เสียง กับพฤติกรรมของปลา

ปฏิเสธไม่ได้ ว่ากว่าจะเป็นนักตกปลาที่ดีและชำนาญ ทุกคนจะต้องเคยพบกับอุปสรรค ปัญหา ความผิดพลาด และการลองผิดลองถูกมามากมาย ไม่มีนักตกปลาคนไหน เริ่มหัดจับคันเบ็ดตกปลาแล้วเก่ง ทุกคนต้องอาศัยกาลเวลาเป็นตัวฝึกฝน เมื่อเริ่มตกปลาใหม่ๆ ทุกคนต้องเรียนรู้ไปตามขั้นตอน เริ่มจากพื้นฐานง่ายๆ คือการใช้อุปกรณ์ให้ถูกวิธีและชำนาญ รวมทั้งการศึกษาพฤติกรรมของปลาควบคู่ไปด้วย

ความรัก ความอดทน กับการตกปลา

สิ่งสำคัญที่สุดของการเป็นนักตกปลาคือ จะต้องมีทั้งความรักและความอดทนอย่างสูงควบคู่กับไปกับสมาธิอันมั่นคง นักตกปลาที่ดีจะต้องยอมรับต่อความผิดพลาดของตนเองและฟังคำแนะนำของผู้อื่น คิดเสียว่าผิดเป็นครู แก้ไขไปทีละเล็กละน้อยแล้วกาลเวลาจะช่วยเสริมสร้างประสบการณ์ปลูกฝังความรู้ความชำนาญให้อย่างไม่รู้ตัว

นอกจากนี้การศึกษาถึงพฤติกรรมของปลาในเรื่องการมองเห็นรูป การชิมรส การดมกลิ่นและการได้ยินเสียงนั้น นับว่าเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการตกปลา ซึ่งนักมีนวิทยาได้ทำการทดลองถึงพฤติกรรมเหล่านี้ จนกระทั่งสามารถแยกแยะออกมาให้เห็นความแตกต่างของปลาแต่ละประเภทในการกินอาหารและระวังภัย ซึ่งมีความสำคัญต่อนักตกปลาในการออกตกปลาแต่ละครั้งมากบ้างน้อยบ้างตามความรู้ความสามารถ และพฤติกรรมต่างๆ เหล่านี้ซึ่งเป็นความสามารถโดยตรงของปลาอันมีรายละเอียดและสาระดังต่อไปนี้

การมองเห็นของปลา

ปลาเกือบทุกชนิดตาไวอย่างน่าทึ่ง โดยปกติแล้วปลาล่าเหยื่อจะมีสายตาที่ดีเยี่ยม เช่น ชะโด ช่อน กระสูบ กราย ม้า เค้า ฯลฯ สามารถมองเห็นเหยื่อได้ในระยะไกล โดยเฉพาะเหยื่อที่กำลังเคลื่อนไหวจะมองเห็นก่อนเหยื่อที่หยุดนิ่ง นอกจากปลาล่าเหยื่อซึ่งมีสายตาดีมากแล้วยังมีปลาอีกหลายชนิดที่สามารถมองเห็นเหยื่อได้ในระยะไกลเช่นกัน ซึ่งส่วนมากเป็นปลาในกลุ่มตระกูลคาร์พเกือบทุกชนิด เช่น ยี่สก กระโห้ ตะเพียน ตะพาก เวียน กำดำ พลวง สร้อย ตะโกก ฯลฯ และในกลุ่มแคทฟืช อีกเพียงสองสามชนิด เช่น กดคัง กดแค้ เค้า เป็นต้น

อ่านเรื่อง >> ยี่สกไทย ปลาท้องถิ่นไทย ที่เกือบสูญพันธุ์

ในแหล่งธรรมชาติน้ำที่ใสสะอาดจะสะดวกในการมองเห็นทั้งของปลาและนักตกปลาตัวอย่างเช่น นักตกปลาที่นิยมตกปลาด้วยเหยื่อปลอมหรือผลไม้ จะรู้ว่าปลาเหล่านี้มีสายตาไวมาก โดยเฉพาะ ปลาชะโด ปลาเวียน ปลาพลวง ปลาแรด เวลาเหวี่ยงเหยื่อออกไป ถ้านักตกปลาไม่มีความชำนาญและไม่รู้ถึงพฤติกรรมของปลาเหล่านี้ การเคลื่อนไหวเพียงเล็กน้อยก็จะทำให้ปลารีบว่ายหนีไปทันที

ปลาล่าเหยื่อทุกชนิดและปลาเกมส่วนใหญ่รวมไปถึงปลาอื่นๆ อีกหลายประเภท ใช้สายตาในการอาหารและเตือนภัยเมื่อศัตรูเข้ามาใกล้ ปลาที่ใช้สายตาในการหาอาหารจะมีความสามารถพิเศษที่โฟกัสตาทั้งสองบอกตำแหน่งและระยะที่เหยื่ออยู่ห่างออกไปได้อย่างแม่นยำ โดยเฉพาะเหยื่อที่กำลังเคลื่อนไหว

ซึ่งนักตกปลาทั้งหลายควรให้ความสนใจในการเลือกใช้เหยื่อแต่ละประเภทขณะตกปลาล่าเหยื่อชนิดต่างๆ
ปลาล่าเหยื่อส่วนใหญ่หรือเกือบทุกชนิดจะเข้าโจมตีเหยื่อจากทางด้านหลัง ไม่ว่าจะเป็นเหยื่อปลอมประเภทใดก็ตาม ทั้งเหยื่อปลั๊ก สปินเนอร์ สปูน พลาสติกนิ่ม หรือเหยื่อฟลาย เป็นต้น รวมไปถึงเหยื่อเป็นประเภทต่างๆ เช่น ปลา กุ้ง ปู จิ้งจก แมลง และไส้เดือน

ซึ่งเคลื่อนไหวใกล้เคียงกับธรรมชาติและเป็นธรรมชาติ ดังนั้นการตกปลาให้ได้ผลดีนักตกปลาจึงจำเป็นที่จะต้องฝึกฝนเพื่อควบคุมแอ็คชั่นของเหยื่อและชนิด ให้สอดคล้องกับลักษณะความเป็นอยู่และการเคลื่อนไหวในธรรมชาติ

ปลามีความสามารถเห็นสี..?

นักวิทยาศาสตร์ได้พิสูจน์ออกมาแล้วว่าปลามีความสามารถมองเห็นสีต่างๆ ได้ในระยะใกล้ตัวมันเท่านั้น และปลาจะมองเห็นสีได้ชัดเจนที่สุดเมื่อเป็นสีที่ตัดกับสิ่งแวดล้อมบริเวณนั้น ปลาที่มองเห็นสีได้ดีที่สุดคือปลาที่อาศัยและหาอาหารอยู่บริเวณน้ำตื้นและน้ำใส

อ่านเรื่อง >> ทฤษฎีแสงและเหยื่อปลอม ใช้สีอะไรแหล่มสุด

โปรดจำไว้ว่าสำหรับปลา สีทุกสีจะดูมืดหรือเข้มขึ้น ถ้าหากว่าสีนั้นอยู่ลึกลงไปในน้ำเพียง 2-3 ฟุต ตัวอย่างเช่น เหยื่อปลอมสีแดงทีเรามองเห็นมันจะไม่เป็นสีแดงสำหรับปลาที่อาศัยอยู่ในความลึก 20 ฟุต

เหยื่อปลั๊กสีเหลือง สีส้ม หรือสีเขียวปีกแมลงทับที่ใช้สำหรับตกปลาช่อน ปลาชะโด ปลากะพงขาว หรือปลาล่าเหยื่ออื่นๆ เป็นเหยื่อปลอมชนิดดำตื้นที่ให้ผลดีที่สุด เหมาะสำหรับตกปลาในระดับความลึก 3-5 ฟุต แต่เมื่ออยู่ในระดับความลึกที่มากขึ้น มันจะไม่เป็นสีเหลือง สีส้ม หรือสีเขียวปีกแมลงทับอีกต่อไป

ดังนั้น สีของเหยื่อปลอมจึงมีความสำคัญในการตกปลาเฉพาะปลาที่หากินผิวน้ำและอาศัยอยู่ในน้ำใสที่ไม่ลึกมากนัก การชาร์จเหยื่อในระดับความลึกเป็นเพราะการสั่นสะเทือนของตัวเหยื่อมากกว่าสีสัน และในระยะความลึกตั้งแต่ 150 ฟุต สีของเหยื่อจะไม่มีประโยชน์เลย

การรับรู้รสของปลา

มีปลาจำนวนมากที่สามารถรับรู้รสได้หลากหลาย เช่น เปรี้ยว เค็ม ขม หวาน จากวัตถุที่เป็นกรด มีปลาบางชนิดที่ชอบกินอาหารที่มีรส โดยเฉพาะที่ใกล้เคียงอาหารในธรรมชาติ เช่น รสเค็มและเปรี้ยวของเหยื่อหมักรสมันและหวานของของรำข้าว รสเค็มของขนมปัง เป็นต้น

ปลาในตระกูลแคทฟิชบางชนิดปกติอาศัยอยู่ในน้ำขุ่นหรือค่อนข้างขุ่น จะไม่ใช้สายตาในการหาอาหารเลยปลาเหล่านี้จะมีปุ่มระบบประสาทที่รับรู้รสอยู่ตามบริเวณลำตัวและหนวด ซึ่งมันจะใช้ชิมรสของอาหารก่อนจะกินเข้าปากทุกครั้ง ในธรรมชาติแหล่งน้ำแต่ละแห่งแตกต่างกัน

โดยเฉพาะสีของน้ำและสภาพนิวเวศน์วิทยาใต้น้ำ ทำให้การกินอาหารของปลาแตกต่างกันไป นักตกปลาสามารถตกปลาบึงหรือปลาเทพาได้ด้วยเหยื่อขนมปังในฟิชชิ่งปาร์ค แต่จะไม่ได้ตัวเลยถ้าใช้วิธีเดียวกันนี้ไปตกในแหล่งธรรมชาติ หรือใช้รำนวดตกปลาเวียนอยู่ในเขื่อนหรือ่างเก็บน้ำและจะไม่ได้ผลเช่นกันถ้าใช้วิธีเดียวกันนี้ไปตกตามลำธารในหุบเขา

อาหารที่กลุ่มปลาคาร์พชอบ

ปลาในกลุ่มคาร์พโดยเฉพาะปลายี่สก กาดำ กระโห้ เวียน กระมัง นวลจันทร์น้ำจืด ฯลฯ ชอบอาหารที่สะอาดมีรสมันหวานปนเค็มเล็กน้อย เช่น รำข้าว ขนมปัง มัน ข้าวโพด เป็นต้น การกินอาหารของปลาเหล่านี้ค่อนข้างจะระแวงสงสัยมากกว่าปลาประเภทอื่น ถ้ารสชาติของอาหารแตกต่างไปจากธรรมชาติมันจะไม่กินเลยอย่างเด็ดขาด เพราะฉะนั้นการใส่หัวเชื้อชนิดต่างๆ ผสมลงไปในอาหารจึงต้องเพิ่มความระมัดระวังมากเป็นพิเศษ เพราะถ้ามีรสที่แตกต่างแปลกปลอมไปจากธรรมชาติ ปลาจะไม่ค่อยให้ความสนใจ

อ่านเรื่อง >> ปลากา หรือ ปลาเพี้ย

ความสามารถในการดมกลิ่น

ตามธรรมชาติปลาล่าเหยื่อส่วนใหญ่จะใช้สายตาในการหาอาหาร แต่การดมกลิ่นก็ยังมีส่วนในการตัดสินใจที่จะกินอาหารที่พบเช่นกัน ปลาบางชนิดเกือบจะให้ความเชื่อมั่นกับการได้กลิ่นเพียงอย่างเดียว ในการพิสูจน์ว่าสิ่งที่พบนั้นเป็นอาหารที่มันจะกินเข้าไปได้หรือไม่!

ระบบประสาทการรับกลิ่น ถือได้ว่ามีส่วนสำคัญมากที่จะใช้ตัดสินใจการต่อสู้ หรือหลีกเลี่ยงศัตรูของปลา จากการศึกษาพบว่าเมื่อปลาได้รับบาดเจ็บมันจะปล่อยสารชนิดหนึ่งออกมา ซึ่งกลิ่นของสารนี้จะเผยแพร่กระจายออกไปยังปลาตัวอื่นๆ ที่อาศัยอยู่ในฝูงเดียวกัน

ปลาตัวแรกห้ามหลุด เกี่ยวกับกลิ่น ?

การตกปลายี่สกเทศหรือปลากาดำในอ่างเก็บน้ำหรือในเขื่อนต่างๆ รวมทั้งแหล่งธรรมชาติทั่วๆ ไป นักตกปลาบางท่านยังยึดติดกับโชคลาง เช่น ปลาตัวแรกจะหลุดหรือขาดไม่ได้เพราะจะทำให้วันนั้นอับโชคตกปลาจะไม่ได้ตัว

แต่ความจริงแล้วปลาตัวที่หลุดหรือจะขาด ปล่อยสารชนิดหนึ่งออกมา เพื่อเตือนให้ปลาตัวอื่นๆ ในฝูงเดียวกันระวังอันตราย เป็นเหตุให้ปลาทั้งฝูงแตก “อาจ” ว่ายหนีไปโดยไม่สนใจเหยื่ออีกต่อไป รูจมูกของปลาหรือที่เรียกว่า “นอสทริล” ซึ่งใช้เป็นที่รับกลิ่นนั้นจะมีตำแหน่งเป็นที่แน่นอนคือ มันจะเป็นรูเล็กๆ หนึ่งหรือสองรู อยู่ทางด้านข้างของหัวปลาและทางด้านหน้าของลูกตา

ซึ่งรูจมูกของมันนั้นใช้รับกลิ่นจากอากาศกลิ่นที่มากับน้ำจะมีรูปร่างเป็นละอองเล็กๆ ปะปนมากับกระแสน้ำ ในจมูกของปลาจะมีแผ่นหนังบางๆ และเล็กที่เรียกว่า “แฟล็ป” จะคอยปิด-เปิดให้น้ำผ่านเข้าไปในรูจมูกเพื่อรับกลิ่นที่ต้องการ

ปลาในกลุ่มแคทฟิช จะหาอาหารด้วยการดมกลิ่นเป็นหลัก เนื่องจากสายตามีความสำคัญน้อย ปลาพวกนี้จึงมีตาที่เล็ก จากการทดลองโดยการปิดตาปลาสวาย และปลากดแล้วปล่อยให้ว่ายไปหาอาหาร ปรากฎว่ามันสามารถหาอาหารพบได้อย่างรวดเร็วพอๆ กับตอนที่ไม่ได้ปิดตา ดังนั้น ปลาสวาย ปลากด ปลาดุก ปลาแขยง ปลาสังกะวาด ปลาเทโพ ปลาเทพา ปลาบึกฯลฯ สามารถดำรงชีพอยู่ได้โดยไม่อดตายถึงแม้ว่าตาจะบอดทั้งสองข้างก็ตาม

ปลาไม่ได้ชอบกลิ่นเดียวกันทั้งหมด

จากการศึกษาพบว่าความสามารถในการดมกลิ่นของปลานั้นน่าอัศจรรย์มาก ปลาบางชนิดไม่ชอบกลิ่นของมนุษย์ วันไหนมือที่ใช้จับเหยื่อนั้นเต็มไปด้วยเหงื่อไคลและสกปรก วันนั้นจะตกปลาบางชนิดไม่ได้ตัวเลยก็มี แต่วันไหนมือที่ใช้จับเหยื่อนั้นแห้งสะอาด สามารถตกปลาได้มากกว่าปกติ

ในกรณีเดียวกันมีปลาอีกหลายชนิดที่รังเกียจกลิ่นของบุหรี่ น้ำมันหล่อลื่นในรอก น้ำยาทากั้นยุงกันแดด และกลิ่นแปลกปลอมอื่นๆ ที่ขัดแย้งกับกลิ่นที่มีอยู่ในธรรมชาติ

ในทางกลับกัน น้ำมันปลา หัวเชื้อกลิ่นต่างๆ น้ำตาล หรือน้ำลายของเราเอง อาจจะเพิ่มความสนใจของเหยื่อให้กับปลามากยิ่งขึ้นการบ้วนน้ำลายรดเหยื่อก่อนที่จะหย่อนลงน้ำเป็นกิริยาไม่สุภาพ แต่ก็มีผลที่จะเร่งให้ปลากินเหยื่อเร็วมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีน้ำมันปลาซาร์ตินหรือปลาอกแรถ้านำไปทาบนเหยื่อจะช่วยป้องกันกลิ่นอื่นๆ ที่ไม่พึงปรารถนาสำหรับปลาได้ดี

ข้อที่น่าสังเกตอีกประการหนึ่ง คือกลิ่นที่ใช้ได้ผลดีหรือชอบของปลาชนิดหนึ่ง แต่อาจะเป็นที่น่ารังเกียจของปลาชนิดอื่นๆ ก็ได้ โดยเฉพาะปลาในกลุ่มแคทฟิชบางสกุลจะรังเกียจเหยื่อที่มีกลิ่นหอม แต่กลับชอบเหยื่อที่มีกลิ่นเหม็นโดยเฉพาะเหยื่อหมัก เช่น ปลากด ปลาสวาย ปลาดุก ปลาเทโพ ปลาสังกะวาด ปลาสายยู ฯลฯ

ปลาได้ยินเสียงอย่างไร

ในการออกตกปลานักตกปลาส่วนมาก จะพยายามไม่พูดหรือคุยกันด้วยเสียงดัง เพราะกลัวว่าจะทำให้ปลาตื่น และหนีไปจากบริเวณนั้น จากการทดลองพบว่าถ้าเป็นการนั่งเฉยๆ คุยกันบนเรือหรือบนฝั่ง ปลาจะไม่สามารถได้ยินเสียงพูดคุยอย่างแน่นอน หรือแม้กระทั่งเสียงเพลงที่เปิดคลอเบาๆ เพราะปลาไม่สามารถจับหรือรับฟังคลื่นเสียงจากอาหารได้

แต่ถ้านักตกปลาถูหรือครูดวัตถุหรือเท้าไปบนพื้นเรือรวมทั้งบนฝั่ง ปลาสามารถได้ยินเสียงอย่างชัดเจนและตกใจว่ายหนีไปได้

ปลาสามารถรับเสียงได้สองทางคือ

ทางแรก ได้ยินเสียงจากระบบของหูชั้นในที่ได้รับ การพัฒนามาเป็นอย่างดี ระบบของหูชั้นในจะอยู่ในหัวปลาเยื้อมาทางด้านหลังของตาแต่ละข้าง

ทางที่สอง คือ การจับคลื่นเสียงที่มากับน้ำด้วยเส้นข้างลำตัวทั้งสองด้าน มีชื่อเรียกว่า “เลทเทอรอล ไลน์” ความจริงแล้วส่วนที่ได้รับเสียงจริงๆ นั้นจะเป็นระบบประสาทที่เล็กและมีการทำงานที่ซับซ้อน ซึ่งจะฝังตัวเองอยู่ในตอนกลางของเส้นข้างลำตัว ปรากฏให้เห็นชัดในปลาบางชนิดเช่น ปลาตะโกก นวลจันทร์ น้ำจืด ตะพัด ยี่สกเทศ-ไทย ร่องไม้ตับ แก้มช้ำ เวียน พลวง กระสูบ ตะเพียน หางไหม้ เป็นต้น

อ่านเรื่อง >> ปลาพลวง เสือโคร่งแห่งสายน้ำ

ซึ่งหมายถึงเส้นที่มีสีดำพาดยาวไปตามลำตัวปลาทั้งสองข้าม เกล็ดที่อยู่บริเวณสีดำที่เป็นเส้นข้างลำตัวนั้นจะมีรูเล็กๆ เพื่อเป็นทางผ่านของคลื่นเสียงไปสู่ระบบประสาทภายใน รูเล็กๆ เหล่านี้สามารถส่งผ่านคลื่นเสียงได้ทุกความถี่ ไม่ว่าจะเป็นคลื่นเสียงที่เกิดจากปลาตัวอื่น เสียงเรือการย่ำเท้าของนักตกปลาทั้งบนบกและในน้ำ

มีการศึกษาและทดลองจนเป็นที่น่าเชื่อถือแล้วว่า เส้นข้างลำตัวของปลาไม่เพียงแต่จะจำแนกหรือบ่งบอกตำแหน่งของอาหารเท่านั้น มันยังใช้เป็นระบบเตือนภัยล่วงหน้าของศัตรู ที่กำลังจะมาถึงเพื่อหาทางป้องกันหรือหลบหนีไปให้พ้นจากระบบของการได้ยินแบบพิเศษนี้เองจึงไม่สงสัยเลยว่าปลาสามารถหาอาหารในบริเวณที่กระแสน้ำหมุนวนหรือขุ่นข้นรวมไปถึงในบริเวณที่ไม่มีแสงอีกด้วย

นักตกปลาที่ชอบที่จะหอบหิ้วอุปกรณ์และสัมภาระไปมากมายเกินความจำเป็น อุปกรณ์ต่างๆ เหล่านี้นอกจากจะเพิ่มน้ำหนักให้มากแล้ว ยังเป็นทำให้เกิดเสียงที่ทำให้ปลาตื่นตกใจ ไม่ว่าจะเป็นการวางลงกับพื้นการกระแทกของกล่องอุปกรณ์ การแก้ไขที่ง่ายที่สุดคือนำอุปกรณ์ติดตัวไปเท่าที่จำเป็นและเคลื่อนไหวด้วยความระมัดระวังหรือให้ช้าลงบ้างเท่านั้นเอง

ดังนั้น การศึกษาถึงพฤติกรรมของปลาในเรื่องการมองเห็นรูป การชิมรส การดมกลิ่นและการได้ยินเสียง นับเป็นสิ่งสำคัญสำหรับนักตกปลา นอกจากจะช่วยเสริมความรู้ให้กับท่านแล้วยังมีส่วนที่จะสร้างวิธีการตกปลา แนวทางปลีกย่อยต่างๆ อย่างน้อยๆ “การรู้เขารู้เรา” ซึ่งหมายถึงการรู้จักปลาทั้งด้านความสามารถ นิสัย และการดำรงชีพ จะมีส่วนช่วยให้ท่านประสบความสำเร็จในการปลามากยิ่งขึ้น

ถ้าชอบอย่าลืมแชร์ให้น้าๆ ท่านอื่นได้อ่านกันนะ

Exit mobile version