Advertisement
Home พืชและสัตว์ อนุมัติแล้ว ‘วาฬสีน้ำเงิน’ สัตว์ป่าสงวนชนิดที่ 21 ของประเทศไทย

อนุมัติแล้ว ‘วาฬสีน้ำเงิน’ สัตว์ป่าสงวนชนิดที่ 21 ของประเทศไทย

ก่อนหน้าวาฬสีน้ำเงิน ประเทศไทยมีสัตว์ป่าสงวนอยู่ทั้งหมด 20 ชนิด โดยชนิดที่ 20 ซึ่งได้รับการอนุมัติไปเมื่อปีก่อนคือ "นกชนหิน" ซึ่งเป็นหนึ่งในนกเงือก 13 ชนิดที่พบในไทย จนเมื่อเดือน พฤษภาคม ปี พ.ศ. 2566 ก็ประกาศอนุมัติให้วาฬสีน้ำเงิน ขึ้นทะเบียนเป็นสัตว์ป่าสงวนอีกหนึ่งชนิด แม้ในตอนนี้แทบไม่พบวาฬสีน้ำเงินในน่านน้ำไทยเลยก็ตาม แต่ก็เพื่ออนุรักษ์และป้องกันเอาไว้ก่อน ...ต่อไปมาดูเรื่องราวของวาฬสีน้ำเงิน ที่กำลังจะมาเป็นสัตว์ป่าสงวนของไทย

ก่อนหน้านี้วาฬสีน้ำเงินเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามประกาศของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยวาฬสีน้ำเงินถือเป็นสัตว์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก อาศัยในพื้นที่ทางทะเลระหว่างประเทศ ในส่วนของประเทศไทย มีประวัติการพบวาฬสีน้ำเงินเฉพาะทะเลฝั่งอันดามัน และพบเพียง 3 ครั้ง

ทว่าในอดีตพวกมันถูกล่าเป็นจำนวนมาก เพื่อนำเนื้อและไขมันมาใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ และเป็นประมงพื้นบ้าน นอกจากนี้วาฬสีน้ำเงินยังประสบกับปัญหาแหล่งอาหารที่ลดลง เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศและความเป็นกรดในทะเล ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อการสืบพันธุ์และการดำรงชีวิตของพวกมัน

ทั้งนี้ เมื่อยกระดับวาฬสีน้ำเงินเป็นสัตว์ป่าสงวนแล้ว ภาครัฐเองก็จะต้องเข้ามาดูแลและหามาตรการคุ้มครองอย่างเข้ามงวด เพื่อไม่ให้มันถูกรบกวนหรือถูกคุกคาม

วาฬสีน้ำเงินถือเป็นสัตว์ที่สร้างความสมบูรณ์ให้แก่ระบบนิเวศและสัตว์ทะเล ดังนั้นเมื่อมันได้เป็นสัตว์สงวนแล้ว นอกจากมาตรการป้องกันทางกฎหมาย รัฐยังต้องส่งเสริมชุมชนและประชาชนทั่วไป ให้ตระหนักและเห็นถึงความสำคัญในการอนุรักษ์วาฬสีน้ำเงินต่อไปด้วย เพื่อที่จะให้ท้องทะเลของโลกเรามีความสมดุลในระบบนิเวศมากที่สุด

เรื่องน่ารู้ที่เกี่ยวกับวาฬสีน้ำเงิน

วาฬสีน้ำเงิน (Blue whale) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Balaenoptera musculus ไม่ใช่ปลา แต่เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในทะเล โดยทั่วไปจะมีความยาวประมาณ 30 เมตร ตัวใหญ่ที่สุดที่เคยพบคือ 56 เมตร และมีน้ำหนักประมาณ 100 – 200 ตัน จึงจัดเป็นสัตว์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่โลกเคยมีมา แน่นอนว่าใหญ่กว่าไดโนเสาร์ตัวใหญ่ที่สุดเช่นกัน

นอกจากตัวใหญ่มากแล้ว วาฬสีน้ำเงินยังเป็นสัตว์ที่ส่งเสียงร้องได้กว้างไกลที่สุดในโลกอีกด้วย มันสามารถส่งเสียงไปได้ไกล 1,500 กิโลเมตร ในลักษณะของคลื่นเสียงที่หลากหลาย เชื่อกันว่าไม่ได้ใช้เสียงเพื่อสื่อสารเพียงอย่างเดียว แต่ยังใช้ในการนำทางอีกด้วย

วาฬสีน้ำเงินอาศัยอยู่ในมหาสมุทรแปซิฟิกตอนใต้, แอตแลนติกและมหาสมุทรอินเดีย รวมถึงในมหาสมุทรแอนตาร์กติก และแม้จะมีขนาดร่างกายใหญ่โต แต่วาฬสีน้ำเงินก็มีรูปร่างเพรียวยาวเหมาะแก่การว่ายน้ำ จึงสามารถว่ายน้ำได้เร็วถึง 37 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

ในปีแรก! ลูกวาฬสีน้ำเงินที่เกิดมาก็ยาว 7 เมตร หนัก 2.5 ตัน จะโตเร็วมากๆ มันจะกินเฉพาะนมแม่ที่มีไขมันสูง จนทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น 90 กิโลกรัมต่อวัน เมื่อโตขึ้นจะกินเคยและแพลงก์ตอนเป็นอาหาร แต่อาจบังเอิญกินสัตว์น้ำขนาดเล็กเช่นปลาขนาดเล็ก

วาฬสีน้ำเงินสามารถดำน้ำลงไปหาอาหารได้ลึกถึง 200 เมตร และปกติจะดำน้ำนาน 30 นาที แต่มีบันทึกสูงสุดว่าดำได้นานถึง 50 นาที และพ่นน้ำได้สูงถึง 10 เมตร ทั้งนี้ วาฬสีน้ำเงินที่โตเต็มวัยอาจกินอาหารมากถึงวันละถึง 4 ตัน

ในอดีตวาฬสีน้ำเงิน เคยถูกมนุษย์ล่าอย่างหนัก เนื่องจากต้องการเนื้อและไขมัน โดยเฉพาะในช่วง 70 ปีแรกของศตวรรษที่ 20 คาดว่ามีวาฬสีน้ำเงินราว 500,000 ตัวถูกฆ่า ประชากรวาฬรอบเกาะเซาท์จอร์เจีย ในมหาสมุทรแอตแลนติกตอนใต้ ก็ถูกฆ่าแบบล้างบาง รวมทั้งพวกที่เคยหากินอยู่นอกชายฝั่งญี่ปุ่นก็มีชะตากรรมไม่ต่างกัน

ปัจจุบันมีประชากรวาฬสีน้ำเงิน อาศัยอยู่ในซีกโลกใต้ประมาณ 1,500 ตัว ซึ่งเป็นจำนวนที่น้อยมาก แต่ก็มีสัญญาณที่ดีอยู่เล็กน้อย เพราะมีหลักฐานว่าจำนวนของพวกมันเพิ่มขึ้นร้อยละ 2% ต่อปี ส่วนวาฬสีน้ำเงินในพื้นที่อื่นของโลก ยังไม่สามารถประเมินได้

ในตอนนี้องค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) ได้ขึ้นบัญชีให้วาฬสีน้ำเงินมีสถานะเป็นสัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์ และในประเทศไทยก็ได้ขึ้นบัญชีวาฬสีน้ำเงินเป็นสัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์เช่นกัน

อ่านเรื่องอื่น

Exit mobile version