Advertisement
Home บรรพชีวินวิทยา ครบรอบ 50 ปี การค้นพบ ‘ลูซี่’ ทางแยกของมนุษย์และลิง

ครบรอบ 50 ปี การค้นพบ ‘ลูซี่’ ทางแยกของมนุษย์และลิง

เมื่อ 50 ปีก่อน ในประเทศเอธิโอเปีย นักบรรพชีวินวิทยา ได้ค้นพบโครงกระดูกอายุ 3.2 ล้านปี ที่รู้จักภายหลังในชื่อลูซี่ (Lucy) และเพราะการค้นพบนี้ ได้เปลี่ยนมุมมองที่เกี่ยวกับต้นกำเนิดของมนุษย์ และนี่คือเรื่องราวที่เกี่ยวกับลูซี่

การค้นพบลูซี่ Lucy (Australopithecus)

ในอดีตเราเชื่อว่ามนุษย์มาจากลิง แม้จะยังไม่สามารถระบุจุดเชื่อมโยงที่ชัดเจนไม่ได้ก็ตาม จนในปี พ.ศ. 2517 หรือเมื่อ 50 ปีก่อน บริเวณแหล่งขุดค้นฮาดาร์ (Hadar) ประเทศเอธิโอเปีย ทวีปแอฟริกา นักบรรพชีวินวิทยา ที่นำโดยโดนัลด์ โจฮันสัน (Donald Johanson) ได้ขุดพบซากดึกดำบรรพ์ ที่เป็นโครงกระดูกรูปร่างคล้ายมนุษย์ โดยซากดึกดำบรรพ์นี้มีสภาพสมบูรณ์ถึง 40% ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้นักวิจัยสามารถเห็นความเป็นจริงได้มากขึ้น

หลังจากการศึกษาโครงกระดูก นักวิจัยก็พบว่าเป็นของสิ่งมีชีวิตเพศเมีย มีอายุประมาณ 3.2 ล้านปี และยังแสดงให้เห็นว่ามีส่วนคล้ายกับชิมแปนซี ซึ่งอยู่ในกลุ่มลิงใหญ่ (Ape) และสิ่งนี้ก็มีความสูงประมาณ 1 เมตร หนักประมาณ 29 กิโลกรัม

ทั้งนี้โครงกระดูกถูกระบุในชื่อรหัสว่า AL 288-1 และต่อมาก็เป็นที่รู้จักกันในชื่อลูซี่ (Lucy) ซึ่งมาจากชื่อเพลง “Lucy in the Sky with Diamond” ของวงเดอะบีเทิลส์ (The Beatles) ซึ่งเป็นเพลงที่ทีมงานในช่วงเวลานั้น ชอบเปิดฟังกันในขณะขุดค้นภาคสนาม

เหตุที่ลูซี่มีชื่อเสียงและมีความสำคัญ นอกจากมีความสมบรูณ์ที่สูง ยังเป็นหลักฐานของจุดเชื่อมต่อของวิวัฒนาการจากวานรสู่มนุษย์ และลูซี่ก็ถูกจัดให้อยู่ในสปีชีส์ ออสตราโลพิเธคัส อฟราเรนซิส (Australopithecus afrerensis) ซึ่งเป็น โฮมินิดส์ (hominids) ในอันดับของไพรเมต ซึ่งมีความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมใกล้ชิดกับมนุษย์ และอยู่ในสายวิวัฒนาการเดียวกับมนุษย์ ในสกุลโฮโม (Homo spp.)

ลูซี จัดเป็นโฮมินิดที่เดินสองขาในยุคแรกๆ มีลักษณะทั่วไปคล้ายชิมแปนซี และยังมีสมองที่เล็กใกล้เคียงกัน หรือ ประมาณ 1 ใน 3 ของมนุษย์ปัจจุบัน แต่ถึงอย่างงั้นลูซี่ก็ต่างจากชิมแปนซีตรงที่ มีกระดูกเชิงกราน (pelvis) และกระดูกขา (leg bone) ที่มีลักษณะแทบจะเหมือนกับมนุษย์ปัจจุบัน ด้วยเหตุนี้ลูซีจึงควรจะเดินตัวตรงด้วยขาทั้งสองข้างแบบเดียวกับพวกเรานั้นเอง

สำหรับโครงกระดูกของลูซี่ ได้รับการเคลื่อนย้ายไปในหลายส่วนของโลก ทั้งเพื่อการจัดแสดงและการวิจัย โดยในช่วงหลังๆ ลูซีได้ถูกจัดแสดงที่นิทรรศการ ในดิสคัฟเวอรีไทม์สแควร์นครนิวยอร์ก ตั้งแต่เดือนมิถุนายน – ตุลาคม ปี พ.ศ. 2552 จากนั้นก็ถูกนำไปจัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์มานุษยวิทยาเม็กซิโก จนกระทั่งกลับมาที่เอธิโอเปียในเดือนพฤษภาคม ปี พ.ศ. 2556

เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับ ไพรเมต (Primates) และมนุษย์

ลิง ลิงใหญ่ (Apes) และมนุษย์จัดอยู่ในกลุ่มของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่เรียกว่าไพรเมต ซึ่งบรรพบุรุษร่วมของเรากับลิง มีชีวิตอยู่เมื่อประมาณ 30 ล้านปีก่อน บรรพบุรุษร่วมกับอุรังอุตัง เมื่อประมาณ 10 ล้านปีก่อน และมีบรรพบุรุษร่วมกับชิมแปนซีเมื่อประมาณ 7 ล้านปีก่อน

ต่อมาก็มาถึงกลุ่มของลูซี่ (Australopithecus afarensis) และสายของสกุลโฮโม (Homo spp.) ซึ่งเป็นสายวิวัฒนาการเดียวกันกับมนุษย์ในยุคนี้ และสปีชีส์ต่างๆ เช่น มนุษย์ชวา (Homo erectus) มนุษย์นีแอนเดอร์ทัล (Homo neanderthalensis) ที่สืบเนื่องต่อกันมาและค่อยๆ สูญพันธุ์ไป จนปัจจุบันเหลือเพียงสปีชีส์เดียว ซึ่งก็คือ มนุษย์ปัจจุบัน (Homo sapiens)

แล้วก็เป็นอย่างที่เห็น แท้จริงแล้ว มนุษย์เองก็คล้ายกับสัตว์ทั่วไป ตรงที่ไม่ได้มีลำดับวิวัฒนาการเป็นเส้นตรงเพียงเส้นเดียว เพราะจากหลักฐานเท่าที่ค้นพบในตอนนี้ ทำให้รู้ว่า ในช่วง 2 ล้าน – 1 หมื่นปีก่อน โลกใบนี้ มีมนุษย์อยู่หลายสปีชี่ส์ที่อาศัยอยู่ร่วมกัน จนเมื่อประมาณแสนปีก่อน ก็มีมนุษย์อย่างน้อย 6 สปีชีส์ที่แตกต่างกัน แต่ปัจจุบันหลงเหลือเพียงสปีชีส์ โฮโมเซเปียนส์ (Homo sapiens) ซึ่งพวกเราทุกคนเป็นหนึ่งในสมาชิกของมนุษย์กลุ่มนี้

อ่านเรื่องอื่น

Exit mobile version